ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ เตรียมตัวอย่างไรและในเบื้องต้นควรตรวจอะไรบ้าง

ตรวจสุขภาพ ผู้สูงอายุ เมื่อต้องเตรียมตัวและเกลี้ยกล่อมผู้สูงอายุให้ไปตรวจ

ผู้สูงอายุหลายคนเข้าใจว่าตนเองมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาตลอด ไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรคประจำตัว จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้นคือ มีผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ยอมตรวจสุขภาพ เพราะกลัวว่าจะเจอโรคแล้วทำให้ไม่สบายใจ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมารับรู้ความเจ็บป่วยของตนเอง ดังนั้น จึงควรมีการเตรียมตัวและเกลี้ยกล่อมผู้สูงอายุให้ไปตรวจสุขภาพ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น สภาพร่างกายของแต่ละคนก็ย่อมทรุดโทรมเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เพราะจะช่วยคัดกรอง และประเมินความเสี่ยงต่อโรคภัยทั้งหลาย นอกจากนี้การตรวจสุขภาพยังมีส่วนช่วยให้สามารถตรวจพบปัญหาสุขภาพ และสามารถเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วย ก่อนที่โรคเหล่านั้นจะลุกลาม หรือมีอาการรุนแรงจนสายเกินแก้

วิธีการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ สำหรับการเตรียมตัวโดยทั่วไปก่อนวันที่จะตรวจควรงดอาหาร และน้ำตั้งแต่หลังเที่ยงคืน หรือเป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง โดยนอนหลับพักผ่อนมาให้เพียงพอ และนัดหมายกับสถานพยาบาลล่วงหน้า หากไม่สามารถมารับการตรวจได้ควรโทรมาแจ้ง หรือเลื่อนนัดทางสถานพยาบาล ทั้งนี้ หากมียาที่รับประทานอยู่เป็นประจำ หรือมีโรคประจำตัวต่างๆ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ

วิธีเกลี้ยกล่อมให้ผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพ ผู้สูงอายุมักวิตกกังวล หรือกลัวโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ บางคนคิดว่า ถ้าไปตรวจจะทำให้รู้ว่าเป็นโรคอะไร จึงกลัวการตรวจสุขภาพ และไม่อยากไปตรวจ ดังนั้น การจะโน้มน้าวหรือเกลี้ยกล่อมให้ไปตรวจนั้น จึงต้องอธิบายให้ผู้สูงอายุทราบถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพ โดยอาจโน้มน้าวว่า

  1. การเสื่อมสภาพของร่างกายนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากดูแลดีๆ และไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็จะช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และรู้ทันโรคภัยต่างๆ ได้
  2. การตรวจสุขภาพแล้วพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย ยังจะทำให้ตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ในระยะแรกๆ ส่งผลให้รักษาได้ง่าย และรวดเร็ว ไม่ต้องใช้เวลานาน ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก
  3. ควรอธิบายถึงขั้นตอนในการตรวจให้ผู้สูงอายุสบายใจว่า ไม่ได้ทำให้เจ็บ และไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดด้วย ทำให้ง่ายต่อการโน้มน้าวให้ผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพ 

ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ในเบื้องต้นควรตรวจอะไรบ้าง 

ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ในเบื้องต้นควรตรวจอะไรบ้าง 

โดยหลักการแล้วผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะทำให้ผู้สูงอายุได้รับการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ในเบื้องต้นจะมีรายการตรวจต่างๆ  เช่น ความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย การทรงตัว หู ตา ช่องปาก การขับถ่าย การออกกำลังกาย การทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจความแข็งแรงของมวลกระดูก ตรวจระดับไขมัน ตรวจภาวะสมองเสื่อม ไปจนถึงการตรวจภายในคัดกรองมะเร็ง ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำรายการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีรายละเอียดดังนี้

  1. ตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. ตรวจสายตา อายุ 60 – 64 ปี ตรวจทุก 2 – 4 ปี อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็น
  3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น
  • ตรวจปัสสาวะ ควรตรวจทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ตรวจหาภาวะซีด ควรตรวจทุกปี เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป
  • ตรวจหาไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี
  • ตรวจหาเบาหวาน ควรตรวจทุกปี
  • ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต ควรตรวจทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของไต
  1. ตรวจคัดกรองมะเร็ง
  • มะเร็งปากมดลูก ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี
  • มะเร็งเต้านม ตรวจทุกปีจนถึงอายุ 69 ปี
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจอุจจาระทุกปี
  1. ประเมินสภาวะสุขภาพในผู้สูงอายุ
  • ภาวะโภชนาการ เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการ และได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม
  • ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหัก
  • ภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต
  • ภาวะซึมเศร้า เพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้า และได้รับการวินิจฉัยช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม

ข้อดีของการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้อุ่นใจ และคลายความกังวล อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพที่มีประโยชน์จะต้องเป็นการตรวจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยหาต้นตอของโรคหรือความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกแล้ว ยังทำให้ง่ายที่จะรักษาให้หายขาดได้หรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ สามารถรับมือกับโรคเรื้อรังและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ช่วยคัดกรองความเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับผู้ที่ที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูงเป็นทุนเดิม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพและไม่ไปเร่งการพัฒนาโรคให้เกิดขึ้น เพราะการตรวจสุขภาพเป็นการตรวจสำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งการพบปัญหาแต่เนิ่นๆ ไม่เพียงลดภาวะแทรกซ้อนของโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย และที่สำคัญคือไม่ว่าผลการตรวจสุขภาพจะออกมาอย่างไรก็ห้ามละเลยการดูแลสุขภาพเด็ดขาด

Reference

  1. www.thaipost.net/main/detail/7371
  2. hd.co.th/elderly-health-checkup-price-prepare-take-care
  3. www.thaihealth.or.th/Content/47617-ควรตรวจสุขภาพอย่างไรในต่ละช่วงวัย.html