Author

admin2

Browsing

เคล็ดลับอายุยืน ทำอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

สังคมผู้สูงอายุ คืออะไร

 ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านโครงสร้างอายุของประชากร ที่มีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง Aging Society หรือ สังคมผู้สูงอายุ คืออะไรนั้น อ้างอิงจากคำจำกัดความขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN World Population Ageing) ได้นิยามคำว่าสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และผู้สูงอายุ (Older person) หมายถึงกลุ่มของประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งได้แบ่งระดับของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุออกเป็น 3 ระดับได้แก่ 

  1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ(Aging Society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
  2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์(Aged Society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
  3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่(Super-Aged Society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติสรุปว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548(2005) โดยมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศและคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในช่วงปี 2567-2568 (2024-2025) สรุปได้ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับ Aging Society เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2548 แล้วกำลังที่จะเขยิบขึ้นไปสู่สังคม ผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ไม่เกินปี 2567 แน่นอน เราควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้และอนาคตอันใกล้อย่างเข้าใจและควรปรับตัว เรียนรู้ให้ได้เท่าทัน

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัยในประเทศ เพราะการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องของความมั่นคงทางการเงิน และสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ หากทำให้คนในประเทศเห็นความสำคัญของการดูแลตัวเองในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่ปัจจุบัน เราจะเป็นประเทศที่อยู่ในสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต 

เคล็ดลับอายุยืน ทำอย่างไรนั้น ต้องสร้างขึ้นทั้งกายและใจ 

การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศไทยโดยค้นหาปัญหาที่แท้จริงของผู้สูงอายุในประเทศไทยในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ การเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รายได้ การพัฒนาศักยภาพรวมถึงเรื่องราวของโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงการจัดการกับปัญหาเพื่อหาทางออกสำหรับผู้สูงอายุ เรียกได้ว่าเป็น “เคล็ดลับ” อายุยืนให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น 

เคล็ดลับอายุยืน ทำอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เคล็ดลับอายุยืน ทำอย่างไร? ในด้านร่างกายก็เป็นผลมาจากเรื่องง่ายๆ อย่างการเคลื่อน ไหวร่างกายหรือออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ เชื่อมั้ยว่าแค่เราขยับร่างกายวันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ก็อาจจะช่วยต่ออายุคุณให้ยืนยาวไปอีกหลายปี โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ถ้าไม่อยากป่วย จงลุกขึ้นมา

ผู้ที่อายุมากขึ้นและอยู่ในอาการเฉื่อยชา ควรหันมาเริ่มออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้าร่วม โปรแกรมใดๆ ก่อนเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ไปดูคำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นออกกำลังกายกันเลย

ขั้นแรกเริ่มด้วยการเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่ชื่นชอบมากที่สุด ซึ่งมีความหนักในระดับปานกลาง เพราะการเลือกกิจกรรมที่เราชอบ จะทำให้เราอดทนออกกำลังได้นานขึ้น จากนั้นค่อยๆ เพิ่มเวลาในการออกกำลังทีละน้อยทุกๆ 2-3 วัน จนกระทั่งออกกำลังได้นานต่อเนื่องครั้งละ 30 นาทีโดยไม่รู้สึกเหนื่อยเกินไป

เมื่อใช้เวลาออกกำลังครั้งละ 30 นาทีจนอยู่ตัวแล้ว ให้ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาขึ้นอีก หรือเพิ่มความหนักหน่วงของกิจกรรม หรือทั้งสองอย่างเลยก็ได้ ต่อมาให้เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายให้หลากหลาย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และได้รับประโยชน์หลายๆ ด้าน

  1. ออกกำลังกายไล่ความเจ็บป่วย

ผู้ที่ดูแลร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงและกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แม้อายุจะมากขึ้น เรื่องนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดแห่งโบลเดอร์ สหรัฐ พบว่า การลดลงของแอนติบอดีอันเนื่องมาจากอายุ เป็นสัญญาณว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันน้อยลง แต่การออกกำลังกายจะช่วยคงสภาพการตอบสนองของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน (T-Cell) อย่างเหมาะสม

ดังนั้น การออกกำลังกายจึงมีความสำคัญสำหรับผู้ที่อยู่ในวัย 50 ปีขึ้นไป เพราะคนในวัยนี้มักมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันได้ง่าย

  1. ร่างกายสมบูรณ์ สมองก็ฟิต

ผู้ใหญ่ที่มีร่างกายกระฉับกระเฉงจะมี สมาธิดี อาจช่วยรักษาความจำและต่อสู้กับภาวะความจำเสื่อมได้ จากการศึกษาของ นักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์ก แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น พบว่า วิถีชีวิตแบบทำงานนั่งโต๊ะมีผลเสียโดยตรงต่อความสามารถทางปัญญาและคุณภาพการนอนหลับเมื่อเราอายุมากขึ้น

ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยให้ชายและหญิงอายุ 67-86 ปี ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดี เข้าร่วมการศึกษาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ตามข้อกำหนด โดยให้พวกเขาออกกำลังกายเบาๆ นาน 30 นาที ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม 30 นาที และปิดท้ายด้วยการออกกำลังกายเบาๆ ถึงปานกลางอีก 30 นาที

ในแต่ละครั้งจะเริ่มต้นด้วยการอบอุ่นร่างกาย เช่น เหยียดแขน ขา และออกกำลังกายเบาๆ ถึงปานกลาง (เดินหรือออกกำลังร่างกายส่วนบนและส่วนล่าง) ในช่วงสุดท้ายให้ออกกำลังกายเบาๆ ถึงปานกลาง ได้แก่ การเดินเร็ว กายบริหาร หรือเต้นรำ และทำให้ร่างกายเย็นลง 10 นาที โดยทั้งหมดนี้ครอบคลุมระยะเวลา 90 นาที

เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสมอง และมีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น หลับลึกขึ้น และตื่นระหว่างคืนน้อยลงถึงร้อยละ 4-6

  1. อายุไม่ใช่ข้ออ้างอีกต่อไป

การศึกษาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ชายและหญิงอายุระหว่าง 50-60 ปี อยากมีร่างกาย ที่กระฉับกระเฉงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาวะหรือมีอุปนิสัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือสูบบุหรี่

โดยนักวิจัยได้เฝ้าติดตามผู้สูงอายุจำนวน 9,611 ราย พบว่า ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี และยังมีความกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตใน 8 ปีข้างหน้า น้อยกว่าผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะร้อยละ 35 ซึ่งความเสี่ยงที่ลดลงนั้น พบในผู้เข้าร่วมทำการศึกษาที่ออกกำลังกายระดับปานกลางทั่วๆ ไป เช่น เดินเล่น ทำสวน และเต้นรำ แม้แต่คนอ้วนก็จะมีความเสี่ยงที่จะ เสียชีวิตน้อยลง หากรู้สึกกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ 

เคล็ดลับอายุยืน ทำอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

นอกจากการดูแลร่างกายแล้ว เคล็ดลับอายุยืน ทำอย่างไร? ในด้านจิตใจนั้นใช้หลักจิตวิทยาพร้อมเทคนิคง่ายๆ ในการจัดการอารมณ์ของตัวเอง และสร้างกำลังใจให้สามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ได้อย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. รู้จักธรรมชาติตนเอง

ถ้ารู้ว่าเวลาที่ตัวเองหิวจัด จะหยิบอาหารที่ใกล้ตัวเข้าปากทันที ก็ต้องรู้จักวางแผนให้ดี วางระบบให้ร่างกายด้วยการเลือกและเตรียมอาหารล่วงหน้า อย่ารอให้หิวก่อน เพราะเมื่อหิว เรามักจะมีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจน้อยลง

  1. คำพูดสร้างพลัง

หาคำพูดที่จะช่วยดึงสติให้เราเอาชนะใจตัวเองได้ เช่น สำหรับคนที่กำลังคุมน้ำหนัก เมื่อเห็นอาหารมากมายตรงหน้า ลองถามตัวเองว่า “คุ้มไหม” เพื่อเตือนสติ ป้องกันไม่ให้เผลอกินอาหารที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย

  1. หมั่นหาความรู้

พัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ เช่น วิธีการอ่านฉลากโภชนาการ หรือ วิธีการออกกำลังกายที่หลากหลายมากขึ้น

  1. รู้จักผ่อนคลาย

ไม่ให้อยู่ในสภาวะกดดัน หรือตึงเครียดจนเกินไป ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการความเครียด ไม่จมอยู่กับปัญหา และฝึกปล่อยวาง เทคนิคง่ายๆ คือการยิ้มให้ตัวเองตอนเช้า เพื่อสร้างอารมณ์ที่ดีรับวันใหม่อย่างแจ่มใส การผ่อนคลายโดยการให้ตัวเองได้ทำกิจกรรมที่ชอบ ยังมีวิธีการจัดการอารมณ์เบื้องต้นที่ง่ายที่สุดคือ การฝึกหายใจให้ยาวและการออกกำลังกาย แต่ถ้าไม่มีเวลา สามารถฝึกหายใจแบบชี่กงง่ายๆ ได้ ก่อนและหลังการนอน ช่วงละ 20 ครั้ง

  1. มองหาความสุขอย่างง่ายๆ

คนส่วนใหญ่มักคิดและมองหาความสำเร็จในหน้าที่การงานว่าสามารถทำให้เกิดความสุข จนลืมมองความสุขใกล้ตัวซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เช่น ความสุขจากการพูดคุยกับคนในบ้านระหว่างการกินมื้อเย็นร่วมกัน และเมื่อเรามีต้นทุนความสุขดีๆ การที่เราจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ ก็จะง่ายขึ้น

Reference

  1. researchcafe.org/aging-society
  2. zeedoctor.com/aging-society-thailand
  3. www.posttoday.com/life/healthy/521927
  4. thai.luxurysocietyasia.com/4-เคล็ดลับสู่การมีอายุยื

โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ 

โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ 

  1. โรคสมองเสื่อม ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงในระบบการทำงานของสมองค่อย ๆ เสื่อมลงหรือบกพร่อง เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ พฤติกรรม และความทรงจำอย่างต่อเนื่อง มักพบมาในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ เครียด ขาดการออกกำลังกายหรือสูบบุหรี่เป็นเวลานาน และผู้คนที่ในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคสมอง ส่วนมากจะพบในอายุ 60 ปีขึ้นไป
  2. โรคกระดูกพรุน โรคเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนลดลงในผู้สูงอายุ พบมากในผู้หญิงสูงอายุโดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน ส่งผลให้แคลมเซียมสลายออกจากกระดูกมากขึ้น กระดูกมีความหนาแน่นน้อยลง กระดูกบางและเปราะหักง่ายขึ้น ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก
  3. โรคข้อเข่าเสื่อม โรคข้อเข่าอักเสบ หรือข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ผู้ที่ใช้ข้อเข่ามากเกินไปหรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน การใช้งานขาและหัวเข่าผิดท่าสะสมเป็นเวลานาน หรือเป็นโรคที่ส่งผลกับเข่า เช่น โรคอ้วน โรคเกาท์ และอาการอักเสบของเข่า เป็นต้น
  4. โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงหรือต่ำเกินไป ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
  5. โรคไต โรคไตในผู้สูงอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนตามอายุ และการโตขึ้นของเยื่อต่อมลูกหมาก ระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการแต่เมื่อไตเสื่อมลงจะเกิดการคั่งของเสียในกระแสเลือดและมีอาการต่าง ๆ ตามมา
  6. โรคความดันโลหิตสูง คนปกติจะมีความดันโลหิต 120/80 มิลลิเมตรปรอท ผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป การมีภาวะระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และหลอดเลือดสมองตีบและแตก และทำให้เกิดการเสื่อมลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะได้ไม่ดี โรคความดันโลหิตสูงมีปัจจัยมาจากความอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย และการได้รับสารเคมีหรือยาบางชนิด
  7. โรคตา ตาเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น ตาจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลงไป โรคตาที่ผู้สูงอายุเป็นกันมาก เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคต้อลม โรคจอประสาทตาเสื่อม ตาแห้ง และน้ำวุ้นตาเสื่อม หากดวงตามีอาการผิดปกติควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที
  8. โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคที่คนไทยป่วยมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง พบมากในกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุของโรคมักเกิดมาจากการสะสมไขมันของเส้นเลือด อายุที่มากขึ้น กรรมพันธุ์ การสูบบุหรี่ และเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน เป็นต้น หากปล่อยให้เวลาผ่านไปจนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจขั้นรุนแรง อาจเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือเสียชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วน
  9. โรคมะเร็ง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากอายุมากขึ้นเซลล์ในร่างกายนั้นเสื่อมลงและกลายพันธุ์เป็นก้อนเนื้อที่ควบคุมไม่ได้ มะเร็งในผู้ชายสูงอายุ ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งตับอ่อน / มะเร็งในผู้หญิงสูงอายุ มักพบมะเร็งของอวัยวะสืบพันธ์ เช่น มดลูก เต้านม และรังไข่ ส่วนอวัยวะอื่นๆ ก็มีมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับอ่อน
  10. โรคหลอดเลือดสมอง อีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยในสังคมผู้สูงอายุ สาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตและพิการ โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะมีสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้สมองหยุดทำงานเฉียบพลันมาจากอาการขาดอาหารและเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองตายสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคนี้มักพบในผู้สูงอายุเพศชายอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

แนวทางการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี 

อาหารสำหรับผู้สูงอายุควรกินอย่างไรจึงเหมาะสม 

  1. เลือกอาหาร วัยนี้ร่างกายมีการใช้พลังงานน้อยลงจากกิจกรรมที่ลดลง จึงควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน ให้เน้นอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะปลา และเพิ่มแร่ธาตุที่ผู้สูงอายุมักขาด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี และเหล็ก ซึ่งมีอยู่ในนม ถั่วเหลือง ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ และควรกินอาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง อบ แทนประเภทผัด ทอด จะช่วยลดปริมาณไขมันในอาหารได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
  2. ออกกำลังกาย หากไม่มีโรคประจำตัวแนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิกสัก 30 นาทีต่อครั้ง ทำให้ได้สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง จะเกิดประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือดอย่างมาก โดยขั้นตอนการออกกำลังกายจะต้องค่อยๆ เริ่ม มีการยืดเส้นยืดสายก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความหนักขึ้นจนถึงระดับที่ต้องการ ทำอย่างต่อเนื่องจนถึงระยะเวลาที่ต้องการ จากนั้นค่อยๆ ลดลงช้าๆ และค่อยๆ หยุด เพื่อให้ร่างกายและหัวใจได้ปรับตัว
  3. สัมผัสอากาศที่บริสุทธิ์ จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้ อาจเป็นสวนสาธารณะใกล้ๆ สถานที่ท่องเที่ยว หรือการปรับภูมิทัศน์ภายในบ้านให้ปลอดโปร่ง สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก มีการปลูกต้นไม้ จัดเก็บสิ่งปฏิกูลให้เหมาะสม เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และสามารถช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดได้
  4. หลีกเลี่ยงอบายมุข ได้แก่ บุหรี่และสุรา จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงของโรคได้ ทั้งลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และยังช่วยป้องกันปัญหาอุบัติเหตุ อาชญากรรมต่างๆ อันเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในขณะนี้
  5. ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ โดยเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและโรคที่เป็นอยู่ ส่งเสริมสุขภาพให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ปรับสภาพแวดล้อมในบ้านให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือการหกล้ม
  6. ควบคุมน้ำหนักตัวหรือลดความอ้วน โดยควบคุมอาหารและออกกำลังกายจะช่วยทำให้เกิดความคล่องตัว ลดปัญหาการหกล้ม และความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
  7. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เช่น การซื้อยากินเอง การใช้ยาเดิมที่เก็บไว้มาใช้รักษาอาการที่เกิดใหม่ หรือรับยาจากผู้อื่นมาใช้ เนื่องจากวัยนี้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตในการกำจัดยาลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยาหรือผลข้างเคียงอาจมีแนวโน้มรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ฉะนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาจะดีที่สุด
  8. หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย เช่น คลำได้ก้อน โดยเฉพาะก้อนโตเร็ว แผลเรื้อรัง มีปัญหาการกลืนอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก ท้องอืดเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอเรื้อรัง ไข้เรื้อรัง เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกหรือถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องเสียเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ้าอย่างนี้ล่ะก็พามาพบแพทย์ดีที่สุด
  9. ตรวจสุขภาพประจำปี แนะนำให้ตรวจสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี หรืออย่างน้อยทุก 3 ปี โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแข็ง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง ตรวจหาโรคมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และยังมีตรวจการมองเห็น การได้ยิน ตลอดจนประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย

 สรุป 

เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตลอดจนเพื่อหลีกเลี่ยงการป่วยเป็นโรคที่พบบ่อยผู้สูงอายุนั้น ตัวผู้สูงอายุเองตลอดจนผู้ที่ดูแลไม่ควรมองข้ามการตรวจสุขภาพและการดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ทั้งการควบคุมอาหาร งดสูบบุหรี่หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่รับประทานยาเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ไว้ก่อนที่จะสายเกินแก้

แนวทางการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีอาจมีแนวทางที่แตกต่างกันไปตามความต้องการซึ่งแต่ละแนวทางก็มีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดที่แตกต่างกันรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุ เช่น การดูแลผู้สูงอายุด้วยตัวผู้สูงอายุเองคือการที่ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชิวิตได้ด้วยตนเองโดยมีการพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด ผู้สูงอายุมีความพอใจกับความสุขตามอัตภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้สูงอายุมีความสามารถทำตัวให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคมเพื่อสร้างความภูมิใจในคำยกย่องจากสังคมโดยรวมการ สำหรับดูแลผู้สูงอายุด้วยคนในครอบครัวเป็นการดูแลผู้สูงอายุทั้งในเรื่องของปัจจัยสี่ การให้อาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและการดูแลรักษาสุขภาพทั้งการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ

สำหรับการดูแลผู้สูงอายุโดยสถาบันต่างๆ เช่น สถานสงเคราะห์ สถานพยาบาลหรือสถานที่รับดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เป็นต้น  มีรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน เป็นการกระตุ้นให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกเพื่อร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาบริการต่างๆ ให้แก่สมาชิกในชุมชนระหว่างตัวผู้สูงอายุเอง ครอบครัว คนในชุมชนและสถาบันทางสังคมต่างๆ ที่มีลักษณะการบริการที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ แนวทางการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี บทบาทสำคัญอยู่ที่ครอบครัวกับผู้สูงอายุโดยครอบครัวต้องตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุต้องมีเจตคติที่ดีต่อความสูงวัยอันจะทำให้เกิดความเข้าใจ ความเอื้ออาทรอย่างแท้จริงในการดูแลผู้สูงอายุ หากจะเปรียบเทียบความสำคัญระหว่างความรู้ในการปฏิบัติดูแลผู้สูงอายุกับการส่งเสริมให้คนในครอบครัวตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ ความสำคัญจะอยู่ที่การสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวมากกว่า

Reference

  1. www.thailandexhibition.com/talk/detail/?id=5f7d93d772600
  2. www.thaihealth.or.th/Content/44847-9%20วิธีดูแลผู้สูงอายุสุขภาพดี.html
  3. eldercarenow.net/แนวคิดการดูแลผู้สูงอาย

ท้องผูก เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันได้เพื่อลดความรุนแรงและเรื้อรังซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาหลายประการ โดยภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุปัจจุบันพบอยู่ที่ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ พบมากในเพศหญิงและผู้ที่มีอายุมาก ส่วนอุบัติการณ์ภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุปกติในชุมชนพบร้อยละ 10-20 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน แต่โดยในสถานบริบาลอาจพบสูงถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว การดูแลภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกหลานควรเอาใจใส่ ไม่ควรปล่อยปะละเลยสุขภาวะนี้ในผู้สูงอายุ

ท้องผูกในผู้สูงอายุ

ท้องผูกในผู้สูงอายุ เกิดจากสาเหตุใดบ้าง 

  1. ผู้สูงอายุมักจะมีภาวะของโรคอยู่หลายๆโรค ที่ทำให้มีโอกาสท้องผูกได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน
  2. รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ดื่มน้ำน้อย หรือความอยากอาหารลดน้อยลง . ผู้สูงอายุมักรับประทานอาหารน้อยลง บางคนจะรับประทาน อาหารที่มีกากใยไม่ค่อยได้ อาหารที่มีเส้นใยจะเพิ่มกากอาหาร หรือปริมาณเนื้ออุจจาระ และอุ้มน้ำทำให้อุจจาระอ่อน
  3. สุขนิสัยส่วนตัว เช่น ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลา หรือการกลั้นอุจจาระบ่อยๆ
  4. ระบบการย่อยของทางเดินอาหารเสื่อมลง เช่น การบดเคี้ยวไม่ดีเนื่องจากฟันผุ ไม่มีฟันที่จะบดเคี้ยวอาหารที่มีเส้นใย ประกอบกับการเคลื่อนไหวบีบตัวของลำไส้ลดลง โดยความรับรู้ความรู้สึกของตัวลำไส้น้อยลงที่เป็นไปตามอายุมากขึ้น
  5. ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือไม่มีการออกกำลังกาย หรือผู้ป่วยที่นอนติดเตียง การเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกายจะกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญอาหารและช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวบีบตัวให้มีการขับถ่ายดีขึ้น
  6. การรับประทานยาระบายเป็นประจำ ทำให้ลำไส้ใหญ่ถูกกระตุ้นจากยาอยู่เสมอจนลำไส้ไม่สามารถทำงานตามกลไกปกติได้
  7. ความเครียด ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเบื่ออาหาร และรับประทานอาหารได้น้อย มีผลกระทบต่อระบบการขับถ่าย ร่างกายจะระงับการขับถ่ายชั่วคราวได้
  8. ยารักษาโรคบางชนิด อาจจะทำให้เกิดอาการท้องผูก เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด เช่น มอร์ฟีน
  9. สาเหตุอื่นๆ เช่น ดื่มเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟมากเกินไป ได้รับยาแก้ปวด หรือยาบางอย่าง หรืออาจมีโรคที่ทำให้ท้องผูกได้ เช่น โรคทางระบบประสาท มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือการทำงานของต่อมบางอย่างที่ผิดปกติไป ฯลฯ

ท้องผูกในผู้สูงอายุ มีแนวทางดูแลป้องกันได้อย่างไร 

ท้องผูกในผู้สูงอายุ มีแนวทางดูแลป้องกันได้อย่างไร 

  1. รับประทานอาหารที่มีกากหรือเส้นใยอาหารให้มากขึ้น อาหารที่มีเส้นใยพบมากในผัก เช่น ผักใบเขียวต่างๆ เช่น ผักคะน้า ผักโขม กวางตุ้ง ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี แตงกวา หรือมะเขือเทศสด ผลไม้ทุกชนิด เช่น กล้วย สับปะรด ส้มโอ ฝรั่ง องุ่น มะละกอ สาลี่ แอปเปิ้ล เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่วต่างๆ ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีกากใย เช่น ครีม เนย เนื้อสัตว์ติดมัน มันทอด และขนมหวานต่างๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ฯลฯ
  2. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว โดยเฉพาะเวลาตื่นนอนตอนเช้า ควรดื่มน้ำ 2-3 แก้ว เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ (ถ้าแพทย์ไม่ได้จำกัดน้ำดื่ม) อาจเพิ่มน้ำผัก น้ำผลไม้ในการช่วยย่อยอาหารด้วย ไม่ควรดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้อุจจาระแห้ง
  3. ขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน และไม่ควรรีบเร่งจนเกินไป ซึ่งตำราโบราณถือว่า เวลา 05.00-07.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ใหญ่ทำงานได้ดีที่สุด หรือจัดสถานที่ขับถ่ายให้เหมาะสม
  4. ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน การแกว่งแขน การทำกายบริหารอย่างง่ายๆ จะช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น
  5. ถ้าปฏิบัติตามข้อ 1-4 ไม่ได้ผล ใช้ยาระบายตามแพทย์สั่งหรือผ่าตัด การใช้ยาระบายให้ใช้เท่าที่จำเป็นตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถ้าปฏิบัติตัวดีก็หายเองได้ หากไม่หายอาจจำเป็นต้องคำนึงถึงการผ่าตัด ในกรณีที่พบว่ามีการเคลื่อนไหวของตัวลำไส้ใหญ่ที่ช้ามาก อาจจะต้องตัดลำไส้ออก
  6. ผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน สูดลมหายใจเข้าออกยาวๆ ฟังดนตรีเบาๆ ทำใจให้สบายร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อผ่อนคลายร่างกาย

6 ข้อเหล่านี้คือมาตรการในการป้องกันและรักษาภาวะท้องผูกที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ หากผู้สูงอายุมีอาการท้องผูกและไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ทำให้เกิดความไม่สุขสบาย มีภาวะเครียด และรบกวนการดำเนินกิจวัตรประจำวัน อาการท้องผูกเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้น ทุกคนควรใส่ใจในการป้องกันและการแก้ไขภาวะท้องผูก อีกทั้งช่วยลดการเกิดโรคต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ

Reference

  1. www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=363
  2. www.thairath.co.th/news/local/1618180
  3. zeedoctor.com/ดูแลท้องผูกผู้สูงอายุ

อายุที่เพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญส่งผลต่อภาวะนอนไม่หลับ ซึ่งพบว่าในผู้สูงอายุมักมีการนอนไม่หลับสูงกว่าวัยอื่นๆ จากการสำรวจพบว่าในประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาการ นอนไม่หลับ สูงถึง 50% มีภาวะการนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ 2-10% ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและควรทำความเข้าใจ

ผู้สูงอายุ นอนไม่หลับ ทำยังไงดี? มีวิธีแก้หรือไม่?

ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ มีสาเหตุนะ! ไม่ใช่เรื่องปกติ

สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุเกิดจากอายุที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้นสมองของคนเราจะเสื่อมไปตามวัยนั้นพบได้ในผู้สูงอายุทุกเพศและแทบทุกคนแม้ว่าผู้สูงอายุจะมีสุขภาพดีก็ตาม การทำงานของสมองจึงรวน ทำให้การทำงานของร่างกายเสื่อมลง ระดับฮอร์โมนที่ลดลง ตลอดจนโรคประจำตัวที่รบกวนการนอน ซึ่งสามารถกล่าวโดยรายละเอียด แบ่งออกได้คือ

  1. ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ทำให้มีผลกระทบในการนอนต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมหมวกไตหรือไตวายเรื้อรัง โรคเหล่านี้ทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้ง
  2. ผู้สูงอายุที่มีโรคหรืออาการเจ็บป่วยเรื้อรังก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดตามร่างกาย ส่งผลทางอ้อมต่อการนอนหลับ เช่น โรคข้อเสื่อม
  3. ผู้สูงอายุที่ใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทหรือสมอง เช่น การใช้ยานอนหลับเป็นระยะเวลานาน การใช้ยาในการรักษาโรคพาร์กินสัน หรือการใช้ยารักษาโรคบางชนิด อาทิเช่น ยาน้ำแก้ไอที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เจือปนอยู่ เมื่อผู้สูงอายุใช้ยาเหล่านี้จะส่งผลต่อการนอนไม่หลับ ซึ่งหากผู้สูงอายุหยุดกินยาเหล่านี้อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง
  4. สาเหตุอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความวิตกกังวล

ในเรื่องของการตื่นนอนกลางดึกที่ผู้สูงอายุรวมถึงคนส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกเพราะคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วหากมีการตื่นกลางดึกและสามารถนอนหลับต่อได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง และไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพการนอนแต่อย่างใด 

ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ สามารถแก้ไขได้หรือไม่? 

ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ สามารถแก้ไขได้โดยเริ่มต้นให้ดูก่อนว่าผู้สูงอายุประสบปัญหามีเรื่องใดวิตกกังวลอยู่หรือไม่ หากมีให้จัดการที่เรื่องนั้น เมื่อไม่มีความวิตกกังวลก็จะสามารถนอนหลับได้ในที่สุด สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีเรื่องวิตกกังวล อาจมีในเรื่องของโรคประจำตัวที่รบกวนการนอน ซึ่งควรดูแลที่ตัวโรคนั้นๆ และสนันสนุนปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นด้วยการป้องกันและการดูแลในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอน ดังนี้

  1. การจัดห้องนอน จัดห้องนอนให้มีบรรยากาศที่ช่วยให้หลับสบาย ได้แก่
  • มีความเงียบสงบ
  • ใช้ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอนและผ้าห่มที่มีสีไม่ฉูดฉาด
  • ปรับอุณหภูมิในห้องให้เหมาะสม ไม่หนาวหรือร้อนเกินไป
  • ไม่ควรสว่างเกินไปเพราะแสงสว่างจะรบกวนการนอนหลับ
  1. การเข้านอน ให้ความสำคัญกับเวลาและสถานที่ในการนอน ได้แก่
  • พยายามนอนให้เป็นเวลาและสถานที่เดิมทุกวันเพื่อให้เกิดความเคยชิน
  • ไม่ควรนอนกลางวันเป็นเวลานานๆ อาจหากิจกรรมเบาๆ ทำ หรือพูดคุยเล่น หากเพลียหรือง่วงจริง ๆ อาจงีบได้บ้าง แต่ไม่ควรงีบหลังบ่าย 3 โมง เพราะจะทำให้กลางคืนหลับยาก
  • ไม่ควรเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำมากนัก เวลาที่เหมาะสมคือ 3-4 ทุ่ม และตื่นตี 4-5
  1. การรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม
  • เลือกรับประทานอาหารเย็นให้เป็นเวลาและควรกินอาหารที่มีโปรตีนสูง
  • พยายามดื่มน้ำช่วงเช้าและกลางวัน และดื่มให้น้อยลงหลังอาหารเย็น เพื่อลดการปัสสาวะตอนกลางคืน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนหลัง เวลาบ่าย 2 โมง
  • งดการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำในช่วง 4-5 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ สามารถแก้ไขได้หรือไม่

  1. กิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยในการนอนหลับ
  • พิ่มกิจกรรมหรือออกกำลังกายในช่วงกลางวันให้มากขึ้นและเมื่อถึงเวลานอนแต่ผู้สูงอายุไม่ง่วงควรหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ
  • ฝึกทำสมาธิก่อนนอนเพื่อให้จิตใจสงบจะทำให้นอนหลับได้ลึกและเต็มอิ่ม
  1. แพทย์และการใช้ยา
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อทบทวนยาที่อาจทำให้นอนไม่หลับ และรักษาต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ
  • หากต้องใช้ยานอนหลับ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้ติดได้ 

Reference

  1. mgronline.com/goodhealth/detail/9610000024022
  2. www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/นอนไม่หลับผู้สูงวัย
  3. www.thaihealth.or.th/Content/41693-อาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ.html

เข่าเสื่อม ในผู้สูงอายุมักเกิดจากสาเหตุใดบ้าง

เข่าเสื่อม เป็นภาวะที่กระดูกอ่อนของข้อเข่าสึกหรอ ฉีกขาด จนไม่สามารถหล่อลื่นข้อเข่าให้ใช้งานเป็นปกติได้ เรียกว่า “ภาวะข้อเข่าเสื่อม” บางครั้งอาจจะมีหมอนรองกระดูกฉีกขาดร่วมด้วย เมื่อกระดูกอ่อนสึกหรอจนถึงกระดูกแข็ง โดยอาการข้อเข่าเสื่อม จะมีอาการปวดข้อเข่า  รู้สึกข้อเข่าขัดๆ เคลื่อนไหวไม่สะดวก  มีเสียงดังในข้อ เวลาเคลื่อนไหวข้อเข่า ข้อเข่าบวม มีน้ำในข้อเข่า ตลอดจนเข่าโก่งงด ผิดรูปร่าง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเวลาลงน้ำหนักเข่าขณะเดิน หรือขึ้นลงบันได ข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่จะเกิดกับคนไข้อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในคนไข้ที่น้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน มีโอกาสที่จะเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ หรือในกรณีที่คนไข้ได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า หรือเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ข้อแบบผิดๆ ซึ่งสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม มีรายละเอียดดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย
  • น้ำหนักตัวที่เกิน จะเพิ่มแรงกระทำต่อข้อเข่า
  • การใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่กระตุ้นให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ การเดินขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆ ผู้หญิงที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูงมากๆ เป็นเวลานาน ตลอดจนการใช้ส้วมแบบนั่งยองๆ ทำให้มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก
  • ผู้หญิงเมื่อหมดประจำเดือน
  • การใช้งานเข่าอย่างผิดวิธี เช่น ออกกำลังกายโดยการวิ่งทุกวัน หรือเล่นกีฬาที่ต้องกระโดดโดยไม่ฝึกกำลังกล้ามเนื้อขา
  • เคยประสบอุบัติเหตุที่เข่าโดยตรง เคยได้รับการผ่าตัดที่เข่า จะทำให้เป็นเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ เก๊าต์ เป็นต้น 

เข่าเสื่อม รักษาอย่างไร รักษาให้หายได้หรือไม่? 

เข่าเสื่อม รักษาอย่างไร รักษาให้หายได้หรือไม่? ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงของภาวะข้อเข่าเสื่อมไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แต่สามารถชะลอความเสื่อมได้ โดยหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่มีแรงกดที่ข้อเข่า เช่น นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ นั่งเก้าอี้เตี้ย ไขว้ขา หรือการบิดหมุนเข่า, การขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆโดยไม่จำเป็น, การยกหรือแบกของหนักๆ, ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เพื่อลดแรงกดและแรงกระแทกที่ข้อเข่า,  หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องกระโดดหรือใช้ข้อเข่ามาก เช่น บาสเกตบอล การวิ่ง เทนนิส เป็นต้น  ตลอดจนออกกำลังกายและบริการกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายที่แนะนำคือ การว่ายน้ำ และการปั่นจักรยาน

โดยแนวทางการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมเริ่มตั้งแต่การรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา คือ การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นอันตรายต่อข้อเข่า ออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้อข้อเข่า และทำกายภาพบำบัด แต่หากอาการปวดข้อเข่ายังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาซึ่งมีอยู่ 2 แนวทาง คือ 

  1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก มีขาผิดรูปน้อย แพทย์จะให้รับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่ Steroid หรือการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า นอกจากนี้ การออกกำลังกาย การใช้ผ้ายืดพยุงเข่า หรือใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้ค้ำยัน และการทำกายภาพบำบัด สามารถบรรเทาอาการปวดได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
  • รักษาตามอาการ เช่น ดูดน้ำออกจากเข่า เพื่อลดอาการบวมและให้สามารถงอ เหยียดเข่าได้ ฉีดยาเพื่อลดการอักเสบของข้อที่มีอาการเจ็บ อาจใช้สเตียรอยด์ในกรณีอักเสบเรื้อรัง
  • ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติ และไม่ให้ข้อสึกมากขึ้น
  • รักษาด้วย Platelet Rich Plasma (PRP) โดยการฉีดเกล็ดเลือดของผู้ป่วยที่ผ่านการปั่นแยกจนได้สารเลือดที่เหมาะกับการใช้รักษา เพื่อช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมให้ร่างกายรักษาความเสื่อมของข้อเข่า
  • ฉีดน้ำไขข้อเทียม (Hyaluronic acid) ส่วนใหญ่ใช้รักษาควบคู่กับการฉีดเกล็ดเลือด เพื่อลดความฝืดของข้อเข่า
  1. การรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดจะทำในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ข้อเข่าของผู้ป่วยมีการเสื่อมค่อนข้างมาก และไม่สามารถรักษาโดยการใช้ยาหรือทำกายภาพบำบัดได้ ซึ่งการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดก็มีอยู่หลายวิธีตามสภาพและความรุนแรงของข้อเข่าที่เสื่อม การผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาจาก อาการ อายุ การงาน อาชีพ และระยะเวลาการพักฟื้น เพื่อเลือกการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่
  • การผ่าตัดโดยการส่องกล้องข้อเข่า (Arthroscope) เป็นการผ่าตัดด้วยกล้อง โดยแพทย์จะเจาะรูเล็กๆ 2 รูใต้ลูกสะบ้า เพื่อสอดกล้องเข้าไปในข้อเข่า แพทย์สามารถมองเห็นผิวกระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก ความสมบูรณ์ของเนื้อเยื่อในข้อเข่าผ่านจอมอนิเตอร์ และสามารถประเมินขอบเขตที่สึกหรอในเข่าได้ดีขึ้นมากกว่าข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายทางรังสี ระหว่างการผ่าตัดแพทย์สามารถสอดเครื่องมือพิเศษเพื่อทำการผ่าตัดตามที่แพทย์ต้องการได้ เช่น การชำระล้างข้อเข่า การดูดเอาเศษเนื้อเยื่อที่ลอยอยู่ในเข่าออก การตบแต่งขอบที่แผลของกระดูกอ่อน การตัดเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นพังพืดที่เสียดสีกับกระดูกอ่อนในเข่า การเย็บซ่อมแซมหมอนรองกระดูก หรือเอ็นไขว้ผ่านกล้อง การผ่าตัดกระตุ้นการซ่อมแซมผิวกระดูกอ่อน เพื่อให้มีการสร้างเนื้อเยื่อเข้าแทนที่กระดูกอ่อนที่สึกหรอไปแล้ว เป็นต้น
  • การผ่าตัดผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartment Knee Arthroplasty) คือ การผ่าตัดที่เอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่เสื่อมมากแล้วออก โดยเก็บรักษาผิวข้อในส่วนที่กระดูกอ่อนยังอยู่ในสภาพดีไว้ แล้วทดแทนด้วยผิวข้อเข่าเทียมและกระดูกอ่อนเทียมเพียงบางส่วน ในส่วนของเส้นเอ็นต่างๆ ภายในข้อเข่าจะยังอยู่ในสภาพเดิม ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติมากที่สุด สามารถลงน้ำหนักเดินได้ใน 1-2 วันหลังผ่าตัด ข้อเข่ามีอายุการใช้งานได้นานมากกว่า 10 ปี ถึง 97-98% และหากมีความจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขในอนาคต จะสามารถทำได้ง่ายกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีอื่น
  • การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty) จะพิจารณาในรายที่ข้อเข่ามีการเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง และได้พยายามรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือเกิดความพิการผิดรูปของข้อเข่าในลักษณะเข่าโก่งงอ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมทั้งหมดเป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อที่เสื่อมบริเวณกระดูกข้อเข่าส่วนต้นขาและบริเวณหน้าแข้ง แล้วเสริมฝังข้อเข่าใหม่ทดแทน ซึ่งทำมาจากวัสดุโลหะชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบให้เหมือนธรรมชาติ และอยู่ในร่างกายได้ตลอดชีวิตโดยไม่เป็นอันตราย และมีส่วนที่กระดูกอ่อนเทียม ซึ่งทำมาจากวัสดุคล้ายพลาสติกที่ออกแบบมาเพื่อให้มีความทนทานต่อการใช้งาน

เข่าเสื่อม รักษาอย่างไร รักษาให้หายได้หรือไม่? 

เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาเสร็จสิ้นเรียบร้อย ควรมีการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ โดยการควบคุมน้ำหนัก ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป, หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เข่าเสื่อม เช่น การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ หรือนั่งทับเข่าเป็นเวลานาน, งดการเล่นกีฬาที่ทำให้เอ็นฉีกง่าย  เช่น แบดมินตัน ฟุตบอล บาสเกตบอล, เสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่าให้กระชับแข็งแรง, ฉีดน้ำไขข้อเทียม เมื่อมีอาการหรือตามแพทย์แนะนำ รวมถึงรับประทานคอลลาเจน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ผิวข้อและหมอนรองกระดูก ทั้งนี้ คอลลาเจนไม่ช่วยลดอาการเจ็บของข้อเข่า แต่เป็นการช่วยเสริมสร้างผิวข้อและหมอนรองกระดูกให้แข็งแรงขึ้นได้ เปรียบเหมือนการรับประทานวิตามินที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน จึงจะเห็นผล ถือเป็นการลดความเจ็บลงทางอ้อม

Reference

  1. www.rehabcareclinic.com/post/เข-าเส-อมไม-อยากผ-าต-องอ-าน-ตอนท-1
  2. www.thairath.co.th/lifestyle/woman/49383
  3. www.sanook.com/health/28337

เมื่อเราเจอผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึง เรามักคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องได้ยินลดลงอยู่แล้ว แต่การที่เราปล่อยให้ปัญหาการได้ยินไม่ชัดในผู้สูงอายุเป็นอยู่นาน นำมาสู่ปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ ตามมามากมาย ทำให้ผู้สูงอายุเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในการสื่อสารกับผู้อื่นน้อยลงโดยไม่รู้ตัว เกิดปัญหาระหว่างผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวกับผู้สูงอายุได้ หากมีอาการรุนแรง นอกจากผลกระทบทางด้านร่างกายแล้ว การไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้อย่างเป็นปกติยังมีผลกระทบทางด้านจิตใจได้อีกด้วย จึงควรรู้สาเหตุเพื่อหาแนวทางการรักษาต่อไป

หูตึง เกิดจากสาเหตุใดบ้าง

 หูตึง เกิดจากสาเหตุใดบ้างในผู้สูงอายุ

ปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึงในผู้สูงอายุ มักเกิดจากส่วนประสาทรับเสียง ได้แก่ ส่วนของหูชั้นในไปจนถึงสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่เรารับรู้และเข้าใจเสียงต่างๆ ความผิดปกติบริเวณนี้ของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ทำให้เกิดภาวะหูตึง หรือหูหนวกถาวรได้เกิดจากการเสื่อมและตายของเซลล์ขนรับเสียง (Hair cells) ในหูชั้นใน รวมถึงประสาทบริเวณหูชั้นในค่อยๆ สึกกร่อนหรือฉีกขาดไป ส่งผลให้เมื่ออายุมากขึ้นจะไม่ได้ยินช่วงเสียงแหลมความถี่สูง จากนั้นความเสื่อมจะค่อยๆ ลามไปถึงช่วงความถี่กลางซึ่งเป็นระดับของเสียงพูด จึงทำให้ผู้สูงอายุเริ่มฟังไม่ชัดเจน โดยเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงของความบกพร่องของการได้ยิน ได้แก่ โรคของเส้นเลือดในสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ, เลือดออกในสมอง จากไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, เนื้องอกในสมอง เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทหูการรับรวมไปถึงประทานยาบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้ประสาทหูเสื่อมเร็วขึ้นได้ อีกทั้งการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือด โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น

การวินิจฉัยและรักษาปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึงในผู้สูงอายุ

โดยธรรมชาติแล้วการได้ยินจะค่อยๆ เสื่อมลงตามวัย การได้ยินบกพร่องของผู้สูงอายุ จะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป และเสื่อมเท่ากันทั้ง 2 ข้างในช่วงความถี่สูง ซึ่งจะวินิจฉัยในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี และไม่มีสาเหตุอื่นที่ทำให้การได้ยินบกพร่อง  ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ เนื่องจากมีเสียงรบกวนในหู และมักมีปัญหาฟังไม่รู้เรื่อง หรือได้ยินเสียงแต่จับใจความไม่ได้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลจากความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางตามวัย นอกเหนือไปจากหูชั้นในเสื่อม ทำให้มีปัญหาในการได้ยินมากกว่าผู้ที่มีการได้ยินบกพร่องในระดับเดียวกันที่มีอายุน้อยกว่า โดยปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึงในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของโรคเรื้อรังต่างๆที่เกิดกับผู้สูงอายุ พบได้ถึงร้อยละ 25-40 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามวัย  กล่าวคือ อุบัติการณ์ของผู้สูงอายุที่มีประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย พบได้ตั้งแต่ร้อยละ 40-60 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี และเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี

การวินิจฉัยและรักษาปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึงในผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ อาศัยการซักประวัติถึงสาเหตุต่างๆที่เป็นไปได้, การตรวจหูชั้นนอก ช่องหู แก้วหู  หูชั้นกลาง และบริเวณรอบหู, การตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติของเคมีในเลือด, การตรวจปัสสาวะ, การตรวจการได้ยิน เพื่อยืนยัน และประเมินระดับความรุนแรงของการเสียการได้ยิน, การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง และการถ่ายภาพรังสี เช่น เอ็กซ์เรย์ คอมพิวเตอร์สมอง หรือกระดูกหลังหู หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการฉีดสารรังสีเข้าหลอดเลือด ถ้ามีข้อบ่งชี้ ดังนั้น ผู้สูงอายุที่มีอาการดังต่อไปนี้แสดงว่าหูเริ่มตึงแล้ว ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับการได้ยิน

  • ผู้สูงอายุมักได้ยินคำเตือนว่าพูดเสียงดังเกินไป
  • ผู้ดูแล หรือญาติ พูดแล้ว ผู้สูงอายุทำหน้าไม่เข้าใจ และแสดงอาการว่าไม่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง
  • ผู้สูงอายุมีอาการได้ยินไม่ชัด ได้ยินไม่ครบทั้งประโยค
  • ผู้สูงอายุ เปิดเสียงวิทยุหรือโทรทัศน์ดังจนข้างบ้านบ่น หรือไม่ค่อยได้ยินเสียงโทรศัพท์ ในขณะที่ผู้อื่นได้ยิน
  • ผู้สูงอายุเข้าใจสิ่งที่พูดได้ยาก ถ้าในขณะพูดมีเสียงเพลงหรือวิทยุดัง

ทั้งนี้ การมีภาวะหูตึง คือ ภาวะที่ความสามารถในการได้ยินลดลง ซึ่งมีระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน ดังนี้

ระดับการได้ยิน (เดซิเบล) ระดับความรุนแรง ความสามารถในการเข้าใจคำพูด
0-25 ปกติ ได้ยินเสียงพูดคุย
26- 40 หูตึงน้อย ไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ
41-55 หูตึงปานกลาง ไม่ได้ยินเสียงพูดในระดับปกติ
56-70 หูตึงมาก ไม่ได้ยินแม้คนที่พยายามพูดเสียงดัง
71-90 หูตึงขั้นรุนแรง เมื่อตะโกนก็ยังไม่ได้ยิน
91 ขึ้นไป หูหนวก ตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่ได้ยิน

แล้วปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึง รักษาหายขาดได้ไหม? ต้องบอกก่อนว่าปัจจุบันไม่มียารักษาภาวะเสื่อมตามวัยของระบบประสาทหู ปัญหาการได้ยินที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน เส้นประสาทหู และระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย มักจะรักษาไม่หายขาด ซึ่งการรักษาปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุนั้น จะรักษาตามสาเหตุ ถ้าเกิดจากประสาทรับเสียงเสื่อม ควรหาสาเหตุ หรือปัจจัยที่จะทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อมเร็วกว่าผิดปกติ เพื่อหาทางชะลอความเสื่อมและป้องกันไม่ให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมากขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงเสียงดัง หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม และพยายามควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคไต ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

ในกรณีที่อาการหูตึงในผู้สูงวัยมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจพิจารณาให้ใส่เครื่องช่วยฟัง ซึ่งช่วยทำหน้าที่เสมือนเครื่องขยายเสียงให้ดังขึ้น โดยใส่ไว้ในช่องหู สามารถถอดเก็บได้ ในกรณีหูตึงขั้นรุนแรงหรือหูหนวก แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ในกระดูกก้นหอยที่อยู่ในบริเวณหูชั้นใน  อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินไม่ว่าจะเกิดจากประสาทหูเสื่อมตามวัย หรือ มีสาเหตุจากโรคที่อันตราย เช่น เนื้องอกของสมอง หรือเส้นประสาท ซึ่งปัญหาการได้ยินดังกล่าว อาจหายได้ หรืออยู่กับผู้ป่วยตลอดชีวิตก็ได้

 เรามักพบว่ามีผู้สูงอายุหลายๆ คนปลีกตัวจากสังคม หลีกเลี่ยงการออกไปพบปะเพื่อนฝูง เพราะการพบปะในที่ที่มีคนมากจะทำให้ปัญหาการสื่อสารทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึงในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่พบบ่อย และพิสูจน์แล้วจากงานวิจัยในหลายประเทศทั่วโลกว่าทำให้ท่านผู้สูงอายุมีปัญหาซึมเศร้าและปัญหาทางสุขภาพจิต ซ้ำร้ายการที่สมองขาดการกระตุ้นจากเสียงที่เข้ามานั้น นำไปสู่ความเสี่ยงที่มากขึ้นของการทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุอีกด้วย ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันได้ง่ายๆ จากการได้รับการตรวจระดับการได้ยิน และช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจากทางแพทย์ผู่เชี่ยวชาญด้านหูและการได้ยิน เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้นไป ดังนั้น อย่านิ่งนอนใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คระดับการได้ยิน เพื่อหาสาเหตุและการป้องกัน ดูแลไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น

Reference

  1. eartone.co.th/รู้ทันหู/การได้ยินในผู้สูงอายุ
  2. www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1102
  3. www.nakornthon.com/article/detail/ภาวะหูตึง-ฟังไม่ค่อยได้ยินในผู้สูงอายุ-ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ เตรียมตัวอย่างไรและในเบื้องต้นควรตรวจอะไรบ้าง

ตรวจสุขภาพ ผู้สูงอายุ เมื่อต้องเตรียมตัวและเกลี้ยกล่อมผู้สูงอายุให้ไปตรวจ

ผู้สูงอายุหลายคนเข้าใจว่าตนเองมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาตลอด ไม่เจ็บป่วย ไม่มีโรคประจำตัว จึงไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้นคือ มีผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ยอมตรวจสุขภาพ เพราะกลัวว่าจะเจอโรคแล้วทำให้ไม่สบายใจ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมารับรู้ความเจ็บป่วยของตนเอง ดังนั้น จึงควรมีการเตรียมตัวและเกลี้ยกล่อมผู้สูงอายุให้ไปตรวจสุขภาพ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น สภาพร่างกายของแต่ละคนก็ย่อมทรุดโทรมเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การตรวจสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เพราะจะช่วยคัดกรอง และประเมินความเสี่ยงต่อโรคภัยทั้งหลาย นอกจากนี้การตรวจสุขภาพยังมีส่วนช่วยให้สามารถตรวจพบปัญหาสุขภาพ และสามารถเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วย ก่อนที่โรคเหล่านั้นจะลุกลาม หรือมีอาการรุนแรงจนสายเกินแก้

วิธีการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ สำหรับการเตรียมตัวโดยทั่วไปก่อนวันที่จะตรวจควรงดอาหาร และน้ำตั้งแต่หลังเที่ยงคืน หรือเป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง โดยนอนหลับพักผ่อนมาให้เพียงพอ และนัดหมายกับสถานพยาบาลล่วงหน้า หากไม่สามารถมารับการตรวจได้ควรโทรมาแจ้ง หรือเลื่อนนัดทางสถานพยาบาล ทั้งนี้ หากมียาที่รับประทานอยู่เป็นประจำ หรือมีโรคประจำตัวต่างๆ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ

วิธีเกลี้ยกล่อมให้ผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพ ผู้สูงอายุมักวิตกกังวล หรือกลัวโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ บางคนคิดว่า ถ้าไปตรวจจะทำให้รู้ว่าเป็นโรคอะไร จึงกลัวการตรวจสุขภาพ และไม่อยากไปตรวจ ดังนั้น การจะโน้มน้าวหรือเกลี้ยกล่อมให้ไปตรวจนั้น จึงต้องอธิบายให้ผู้สูงอายุทราบถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพ โดยอาจโน้มน้าวว่า

  1. การเสื่อมสภาพของร่างกายนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากดูแลดีๆ และไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็จะช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และรู้ทันโรคภัยต่างๆ ได้
  2. การตรวจสุขภาพแล้วพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย ยังจะทำให้ตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ในระยะแรกๆ ส่งผลให้รักษาได้ง่าย และรวดเร็ว ไม่ต้องใช้เวลานาน ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก
  3. ควรอธิบายถึงขั้นตอนในการตรวจให้ผู้สูงอายุสบายใจว่า ไม่ได้ทำให้เจ็บ และไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดด้วย ทำให้ง่ายต่อการโน้มน้าวให้ผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพ 

ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ในเบื้องต้นควรตรวจอะไรบ้าง 

ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ในเบื้องต้นควรตรวจอะไรบ้าง 

โดยหลักการแล้วผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะทำให้ผู้สูงอายุได้รับการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ในเบื้องต้นจะมีรายการตรวจต่างๆ  เช่น ความเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย การทรงตัว หู ตา ช่องปาก การขับถ่าย การออกกำลังกาย การทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจความแข็งแรงของมวลกระดูก ตรวจระดับไขมัน ตรวจภาวะสมองเสื่อม ไปจนถึงการตรวจภายในคัดกรองมะเร็ง ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำรายการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มีรายละเอียดดังนี้

  1. ตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. ตรวจสายตา อายุ 60 – 64 ปี ตรวจทุก 2 – 4 ปี อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็น
  3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น
  • ตรวจปัสสาวะ ควรตรวจทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ตรวจหาภาวะซีด ควรตรวจทุกปี เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป
  • ตรวจหาไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี
  • ตรวจหาเบาหวาน ควรตรวจทุกปี
  • ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต ควรตรวจทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของไต
  1. ตรวจคัดกรองมะเร็ง
  • มะเร็งปากมดลูก ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี
  • มะเร็งเต้านม ตรวจทุกปีจนถึงอายุ 69 ปี
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจอุจจาระทุกปี
  1. ประเมินสภาวะสุขภาพในผู้สูงอายุ
  • ภาวะโภชนาการ เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการ และได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม
  • ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหัก
  • ภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต
  • ภาวะซึมเศร้า เพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้า และได้รับการวินิจฉัยช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม

ข้อดีของการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้อุ่นใจ และคลายความกังวล อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพที่มีประโยชน์จะต้องเป็นการตรวจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยหาต้นตอของโรคหรือความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกแล้ว ยังทำให้ง่ายที่จะรักษาให้หายขาดได้หรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ สามารถรับมือกับโรคเรื้อรังและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ช่วยคัดกรองความเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับผู้ที่ที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูงเป็นทุนเดิม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพและไม่ไปเร่งการพัฒนาโรคให้เกิดขึ้น เพราะการตรวจสุขภาพเป็นการตรวจสำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคที่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งการพบปัญหาแต่เนิ่นๆ ไม่เพียงลดภาวะแทรกซ้อนของโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย และที่สำคัญคือไม่ว่าผลการตรวจสุขภาพจะออกมาอย่างไรก็ห้ามละเลยการดูแลสุขภาพเด็ดขาด

Reference

  1. www.thaipost.net/main/detail/7371
  2. hd.co.th/elderly-health-checkup-price-prepare-take-care
  3. www.thaihealth.or.th/Content/47617-ควรตรวจสุขภาพอย่างไรในต่ละช่วงวัย.html

อาหาร ผู้สูงอายุต้องกินแบบไหนถึงพอดี

ความสำคัญของอาหารสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมีความต้องการปริมาณอาหารลดลงจากวัยหนุ่มสาว แต่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างความต้านทานโรค ผู้สูงอายุนั้นต้องการพลังงานน้อยลง เพราะการทำงานของร่างกายมีน้อยลง โดยพลังงานที่ผู้สูงอายุได้รับจากอาหารควรได้รับไม่ควรน้อยกว่า 1200 กิโลแคลอรี/วัน โดยมีรายละเอียดคือ

  • ชาย อายุ 60 – 69 ปี ต้องการพลังงานเฉลี่ยประมาณ 2200 กิโลแคลอรี/วัน
  • หญิง อายุ 60 – 69 ปี ต้องการพลังงานเฉลี่ยประมาณ 1850 กิโลแคลอรี/วัน
  • เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป ต้องการพลังงานโดยเฉลี่ยลดลง 10 – 12 % ของกลุ่มอายุ 60 – 69 ปี

อาหาร มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ผู้ที่มีภาวะทางโภชนาการดีมีสุขภาพแข็งแรง มีการดำเนินชีวิตที่ดี ไม่เครียดจนเกินไป การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายในร่างกายจะเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้ไม่ค่อยแก่ ในทางตรงกันข้ามผู้ที่มีภาวะโภชนาการไม่ดี เจ็บป่วย ดื่มสุรา มีน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป ร่างกายจะเสื่อมโทรมเร็วทำให้แก่เร็ว ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องอาหารการกินหรือโภชนาการในผู้สูงอายุ มีข้อคิดอยู่ว่า ขอให้รับประทานอาหารให้ครบหมู่ และควบคุมปริมาณโดยดูจากการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากขึ้น และในกรณีน้ำหนักเกินอยู่แล้ว ควรจะลดน้ำหนักให้ลงมาตามที่ควรเป็นด้วย เพราะโครงสร้างของท่านเสื่อมตามวัย ถ้ายังต้องแบกน้ำหนักมากๆ จะเป็นปัญหาได้ 

อาหารสำหรับผู้สูงอายุควรกินอย่างไรจึงเหมาะสม 

โภชนาการและอาหารสำหรับผู้สูงอายุคือสิ่งสำคัญ ผู้สูงอายุควรได้รับสารอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายเช่นเดียวกับบุคคลวัยอื่นๆ ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงอยู่แล้ว ควรได้รับสารอาหารครบถ้วนอย่างพอดี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

  1. นม นมเป็นอาหารให้สารอาหารโปรตีน และเเคลเซียมสูง แคลเซียมสามารถกันโรคที่พบมากในผู้สูงอายุคือโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะในเพศหญิง โรคนี้เป็นเหมือนภัยเงียบ แรกๆ ไม่มีอาการที่ชัดเจนอาจรู้สึกเพียงแค่ปวดเมื่อย จนเมื่อกระดูกพรุนหรือบางมากก็จะเริ่มปวดกระดูกโดยเฉพาะที่หลังและสะโพก สาเหตุหลักเกิดจากการดูดซึมของแคลเซียมในผู้สูงอายุลดลง และได้รับแคลเซียมจากอาหารน้อย แหล่งของแคลเซียมซึ่งพบมากใน นม ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง ผักใบเขียวเข้ม เป็นต้น ซึ่งปริมาณแคลเซียมที่มีอยู่ในอาหารจะมีปริมาณต่างกัน โดยผู้สูงอายุควรดื่มนมวันละ 1 แก้วโดยควรดื่มนมพร่องมันเนย หรือ นมขาดมันเนยเพราะจะมีไขมันน้อย และมีแคลเซียมสูง แต่ถ้าอยากดื่มนมโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวก็จะมีความหวานมากขึ้นเพิ่มแคลอรี่มากขึ้น  ผู้สูงอายุบางท่านที่ดื่มนมไม่ได้ ดื่มแล้วท้องเสีย ควรดื่มนมถั่วเหลือง  แคลเซียมชนิดที่เป็นยาเม็ดก็สามารถเลือกกินได้ ดังนั้น ควรเลือกกินแต่พอดี การกินมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการจะไม่มีประโยชน์ต่อกระดูก แต่กลับจะทำให้ท้องผูกได้
  2. อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หรือแป้งและน้ำตาล อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หรือแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว เผือก และมันสำปะหลัง กลุ่มนี้เป็นสารอาหารหลัก และให้พลังงานแก่ร่างกายมากกว่าสารอาหารจากกลุ่มอื่น ผู้สูงอายุจึงควรรับประทานอาหารกลุ่มนี้แต่พออิ่ม เนื่องจากความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อลดลง  เพราะส่วนที่เกินจะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมตามที่ต่างๆ อันจะเป็นผลเสียต่อระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม มีผลต่อข้อเข่า ทำให้เสื่อมเร็วขึ้นและปวดเข่าเวลาเดินในภายหลัง  ดังนั้น ควรรับประทานแป้งและนำตาลให้ลดน้อยลง ไม่มากจนเกินไป ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น ข้าว 1 จาน มื้อละ 2 ทัพพี ควรเลือกเป็นข้าวไม่ขัดสี และไม่ควรรับประทานน้ำตาลในปริมาณที่มาก หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัดและของหวานทุกชนิด หากรับประทานมากเกินไปจะสะสมเป็นไขมัน  หากผู้สูงอายุต้องการรับประทานข้าวกล้องก็ควรหุงให้นิ่ม ข้าวกล้องนอกจากจะให้พลังงานแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคเหน็บชาได้อีกด้วย

อาหารสำหรับผู้สูงอายุควรกินอย่างไรจึงเหมาะสม 

  1. อาหารประเภทโปรตีน หรือเนื้อสัตว์ งาและถั่วชนิดต่างๆ อาหารประเภทโปรตีน หรือเนื้อสัตว์  งาและถั่วชนิดต่างๆ อาหารกลุ่มนี้จำเป็นในการซ่อมแซม และสร้างเนื้อเยื่อที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เนื้อสัตว์ที่ผู้สูงอายุควรรับประทานคือ เนื้อสัตว์ที่ไม่มีหนังหรือไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะเนื้อปลาและถั่วชนิดต่างๆ เนื้อสัตว์ควรรับประทานประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะต่อมื้อ  กินไข่วันละ 1 ฟอง หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ฟอง (ถ้าไขมันในเลือดสูงกินเฉพาะไข่ขาว) เลือกเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา ย่อยง่าย ควรดัดแปลงให้นุ่ม ชิ้นเล็กๆ  เนื้อปลาเป็นอาหารโปรตีนที่ผู้สูงอายุควรเลือกรับประทาน เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ย่อยง่าย ไขมันต่ำ ควรเลือกก้างออกให้หมด เนื้อปลายังมีกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 ที่สามารถป้องกันหลอดเลือดแข็งและโรคหัวใจได้ รวมทั้งยังมีแร่ธาตุที่ผู้สูงอายุต้องการอีกด้วย ส่วนพืชจำพวกถั่วชนิดต่างๆ เป็นอาหารประเภทโปรตีน ช่วยซ่อมแซม และสร้างเนื้อเยื่อที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ ซึ่งผู้สูงอายุแม้จะไม่เจริญเติบโตอีกแต่ร่างกายก็ต้องมีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่สูญสลายไปตลอดเวลา ผู้สูงอายุจึงต้องการสารอาหารในกลุ่มโปรตีนมากกว่าในวัยหนุ่มสาวเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว ถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาไม่แพงที่ให้คุณค่าไม่แพ้เนื้อสัตว์ ทั้งยังมีกากเส้นใยทำให้ลำไส้บีบตัวดี ป้องกันเรื่องท้องผูกได้
  2. อาหารประเภทไขมัน ไขมันนอกจากจะให้พลังงานและช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ,ดี,อี และ เค แล้ว ยังทำให้อาหารมีรสชาติมากขึ้น  แต่ถ้ารับประทานไขมันมากเกินจะทำให้ระดับไขมันในเลือดสูง นำมาซึ่งโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือดแดงตีบแข็งได้ จึงจำกัดปริมาณไขมันควรบริโภค 3-5 ส่วนต่อวัน โดยถั่วเปลือกแข็งหรือเมล็ดพืช  มีใยอาหาร โปรตีนสูงขณะเดียวกันมีไขมันสูงด้วย  ควรระวังในการบริโภค และเนยเทียมชนิดนิ่มมีปริมาณไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าชนิดแข็งหรือชนิดแท่ง  ควรเลือกใช้น้ำมันชนิดไม่อิ่มตัวดีกว่าชนิดอิ่มตัว ควรใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำมันข้าวโพด ในการปรุงอาหาร เพราะเป็นน้ำมันพืชที่มีกรดไลโนเลอิก ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย สามารถควบคุมระดับไขมันในเลือด เท่ากับเป็นการช่วยลดภาวะหลอดเลือดแข็ง และโรคหัวใจขาดเลือด ไขมันและน้ำมันทุกชนิดให้พลังงานสูงเท่ากัน  ควรจำกัดการบริโภคปริมาณน้อยหากกินมากจะทำให้อ้วน และไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ หลีกเลี่ยงน้ำมันพืชที่ใช้ประกอบอาหารกะทิซึ่งเป็นน้ำมันจากมะพร้าว หลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ เช่น หนังไก่ หนังหมู ไข่แดง อาหารกลุ่มนี้จะให้ไขมันสูงมาก ซึ่งถ้ารับประทานมากเกินไปจะเป็นผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก ทำให้หลอดเลือดแข็ง และเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญลดลง เช่น สมอง และหัวใจ
  3. อาหารประเภทผักและผลไม้ต่างๆ อาหารประเภทผักต่างๆ  ได้แก่ ผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้าผักกวางตุ้ง ฯลฯ ผักประเภทผล เช่น แตงกวา มะระ ฟักทอง แครอท ฯลฯ เป็นอาหารที่อุดมด้วยสารอาหารประเภทวิตามิน และเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย และมีใยอาหารช่วยให้ระบบขับถ่ายขับถ่ายเป็นปกติ ในแต่ละวันผู้สูงอายุควรรับประทานผักให้ได้มื้อละ 2 ทัพพี ทั้งสุกและดิบ ผัก ต่างๆ ผู้สูงอายุสามารถกินได้ไม่จำกัดแต่ควรกินหลายๆ ชนิดสลับกัน ควรกินผักนึ่งหรือต้มสุกไม่ควรกินผักดิบบ่อยๆ เพราะย่อยยากทำให้ท้องอืดได้ ส่วนอาหารประเภทผลไม้  ให้วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร ผู้สูงอายุควรเลือกรับประทานผลไม้ที่เนื้อนุ่มเคี้ยวง่าย ได้แก่ มะละกอ กล้วยสุก ส้ม เป็นต้น และควรรับประทานผลไม้อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 6-8 ชิ้น/คำ สำหรับผู้สูงอายุที่อ้วน หรือเป็นเบาหวานให้หลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย ขนุน น้อยหน่า เป็นต้น

อาหารสำหรับผู้สูงอายุควรกินอย่างไรจึงเหมาะสม 

  1. ใยอาหาร คนสูงอายุควรรับประทานอาหารที่เป็นพวกใยอาหารมากขึ้น เพื่อช่วยป้องกันการท้องผูก เชื่อกันว่าช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด และลดอุบัติการของการเกิดมะเร็งของลำไส้ใหญ่ลงได้ ใยอาหารไม่ได้เป็นสารอาหาร และไม่ได้ให้พลังงาน แต่ร่างกายควรได้รับทุกวัน เพราะช่วยในการขับถ่าย ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุมักมีปัญหาท้องผูกอยู่เสมอ ใยอาหารช่วยเพิ่มปริมาณ ของอุจจาระ และอุ้มน้ำไว้ ทำให้อุจจาระไม่แข็งตัว และช่วยกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการขับถ่ายได้สะดวก ผู้สูงอายุจึงควรได้รับใยอาหารให้เพียงพอด้วย โดยใยอาหารได้มาจากข้าวซ้อมมือ ถั่วต่างๆ ผัก และผลไม้
  2. น้ำดื่ม คนสูงอายุควรรับประทานน้ำประมาณ 1 ลิตร ตลอดทั้งวัน แต่ทั้งนี้ควรจะปรับเองได้ ตามแต่ความต้องการของร่างกาย โดยให้ดูว่า ปัสสาวะมีสีเหลืองอ่อนๆ เกือบขาว แสดงว่าน้ำในร่างกายเพียงพอแล้ว น้ำเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ให้พลังงาน แต่มีความจำเป็นแก่ร่างกายในการนำพาสารอาหารต่างๆ ไปยังอวัยวะภายในร่างกาย และทำให้ผิวพรรณสดใสและเกิดความสดชื่น น้ำที่ดื่มควรเป็นน้ำสะอาด บริสุทธิ์ ไตของผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพน้อยลงในการขับถ่ายของเสีย การดื่มน้ำมากๆ ช่วยให้มีน้ำ ผ่านไปที่ไตมากพอที่จะช่วยไตขับถ่ายของเสียได้ง่ายขึ้น ผู้สูงอายุจึงควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

Reference

  1. zeedoctor.com/foodforoldie
  2. www.bangkokhealth.com/16884

การดูแลผู้สูงอายุดูแลอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม

ภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ บ่งชี้ว่าต้องให้ความสำคัญใน การดูแลผู้สูงอายุ

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุหลายคนมักรู้สึกเหนื่อยง่ายและเคลื่อนไหวได้ช้าลง ผู้สูงอายุบางคนอาจรู้สึกอ่อนเพลียและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลำบากขึ้น อาการเหล่านี้เป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เราเรียกว่าภาวะแบบนี้ว่า ภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ หรือเฟรลตี้ (Frailty) ซึ่งบุคคลในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตว่าญาติผู้ใหญ่ของเราเกิดอาการภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุหรือไม่ โดยอาการที่อาจจะเกิดได้แก่

  1. รูปร่างผอมลง น้ำหนักตัวลดลงประมาณ 5 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้น
  2. เกิดอาการอ่อนเพลีย ยืนเองไม่ค่อยได้หรือไม่มีแรงที่จะถือสิ่งของ
  3. รู้สึกเหนื่อยง่ายมาก ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ ทำเพียงนิดหน่อยก็จะมีอาการเหนื่อย
  4. สมรรถภาพในการทำกิจกรรมลดลง อาทิ ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยชอบ แต่ทำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน
  5. เดินช้าลง โดยใช้เวลาเดินในระยะทาง 5 เมตร มากกว่า 6-7 วินาที

โดยหากเกิดอาการ 3 อย่างขึ้นไป อาจหมายถึงว่าผู้สูงอายุประสบภาวะดังกล่าวอยู่ ควรให้ความสำคัญเพื่อจะได้มีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งอาการภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้การแต่งตัว ตื่นนอน ลุกจากเตียง เดินเข้าห้องน้ำ หรือไปเที่ยวได้ลำบาก อีกทั้งอาจหกล้มได้ง่าย โดยผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพทำให้ภาวะดังกล่าวแย่ลงอย่างรวดเร็ว เช่น มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีโอกาสติดเชื้อ รวมทั้งฟื้นตัวจากอาการป่วยหรือการได้รับบาดเจ็บต่างๆ ได้ยาก ฉะนั้น บุคคลในครอบครัวจึงควรดูแลญาติผู้ใหญ่ของตนให้มีสุขภาพดีและถูกต้องตามหลักการดูแลผู้สูงอายุ

การดูแลผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และการดูแลผู้สูงอายุติดเตียง 

การดูแลผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และการดูแลผู้สูงอายุติดเตียง 

การดูแลผู้สูงอายุยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จะเป็นผู้สูงอายุติดบ้าน คือ ผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวได้ ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่จะมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน มีความลำบากหรือติดขัดในการเคลื่อนไหว เนื่องจากสภาพร่างกายที่เสื่อมสมรรถภาพตามอายุ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพที่มีโรคประจำตัว การดูแลจะมุ่งเน้นไปในด้านของสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ และการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ดังนี้

  1. การดูแลสุขภาพทางร่างกาย
  • ด้านอาหาร ผู้สูงอายุต้องได้รับอาหารอย่างเหมาะสม หลากหลายครบ 5 หมู่ ได้สัดส่วนเพียงพอ เนื่องจากมีกิจกรรมที่ทำได้ไม่มากส่งผลให้แต่ละวันใช้พลังงานลดน้อยลง และควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน ให้เน้นอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะปลา และเพิ่มแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม สังกะสี และเหล็ก เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารประเภทหวานจัด เค็มจัด อาหารประเภทผัด ทอด และควรกินอาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง อบแทน
  • ด้านการออกกำลังกาย โดยการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น ยืดเหยียด รำไทเก็ก รำไม้พลอง โยคะ เดินเร็ว ว่ายน้ำ เป็นต้น ทำประมาณ 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ การบริหารร่างกายให้ได้ครบทุกส่วนของร่างกาย จะช่วยฝึกกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่นของร่างกาย ทำให้การเคลื่อนไหวและการทรงตัวดีขึ้น
  • ด้านสุขอนามัย ผู้สูงอายุควรลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ผู้ดูแลหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ พร้อมสังเกตการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบขับถ่าย และพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
  1. การดูแลสุขภาพจิตใจ การที่ผู้สูงอายุจะต้องอยู่ติดบ้าน จะทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลได้ง่าย ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวต้องคอยรับฟัง และให้คำปรึกษาให้ผู้สูงอายุได้ระบายความรู้สึกต่างๆ และหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือให้ผู้สูงอายุได้พบปะเพื่อนฝูง ในวัยเดียวกัน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกต่างๆ เมื่อมีกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสนใจหรืออยากทำ
  2. การป้องกันอุบัติเหตุและอันตราย ผู้สูงอายุที่มีความลำบากหรือติดขัดในการเคลื่อนไหว ผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวต้องระวังในเรื่องของการผลัด ตก หก ล้ม ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพที่ถูกต้องเหมาะสม มีอากาศถ่ายเทสะดวก แสงสว่างพอเหมาะ มีความปลอดภัย พื้นต้องไม่ลื่น มีราวจับเพื่อช่วยในการทรงตัว โดยเฉพาะสถานที่ที่สามารถเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว บริเวณบันไดขึ้น-ลง เป็นต้น

การดูแลผู้สูงอายุติดเตียง

การดูแลผู้สูงอายุติดเตียง จะเป็นผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา อาจเป็นเพราะเกิดการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังที่เข้าสู่การลุกลามมากขึ้น จนส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งบางคนอาจจะสามารถขยับแขนหรือขาได้บ้าง แต่ยังต้องมีคนช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันทุกอย่าง เช่น การป้อนอาหาร ช่วยล้างหน้าแปรงฟัน ช่วยอาบน้ำ เป็นต้น ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่ด้วย คนในครอบครัวจะต้องสละเวลาส่วนใหญ่มาคอยดูแลผู้สูงอายุติดเตียงเหล่านี้ เพราะต้องได้รับการดูแลมากกว่าปกติ ทั้งทางด้านร่างกาย และสภาพจิตใจ

โดยหลักการดูแลนั้น ผู้ดูแลจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องแผลกดทับโดยการหมั่นพลิกตัว เปลี่ยนท่านอนของผู้สูงอายุทุกๆ 2 ชั่วโมง การขับถ่าย ควรหมั่นดูแลเรื่องความสะอาดและความเปียกชื้น การดูแลความสะอาดสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อของแผล ด้านอาหารควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ลดภาวะท้องอืดและท้องผูก และมีสารอาหารที่ผู้สูงอายุต้องได้รับอย่างครบถ้วน การทำกายภาพบำบัดของผู้สูงอายุที่ต้องนอนติดเตียงให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อต่อต่างๆ ติดขัด

รวมไปถึงการดูแลด้านอารมณ์และด้านจิตใจ เพราะผู้สูงอายุที่ติดเตียงมักจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย มีความวิตกกังวล กลัวถูกทอดทิ้ง คิดมากเรื่องในอดีต กังวลเรื่องสุขภาพร่างกายที่ถดถอยลงไม่เหมือนเดิม รวมถึงโรคที่เป็นอยู่ จึงต้องการการดูแล และเอาใจใส่จากคนในครอบครัวเป็นพิเศษ เช่น การเข้าไปพูดคุย นำเรื่องไปเล่าให้ฟัง ไปขอคำแนะนำปรึกษาในเรื่องการดุแลบุตรหลาน เป็นการช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า การหากิจกรรมทำร่วมกันทั้งครอบครัว เป็นต้น

Reference

  1. zeedoctor.com/ดูแลผู้สูงอายุ-สุขภาพดี
  2. www.nakornthon.com/article/detail/การดูแลผู้สูงอายุที่คนในครอบครัวควรรู้

ผู้สูงอายุ ออกกำลังกาย ควรระวังและคำนึงถึงอะไรบ้าง

การออกกำลังกายในผู้สูงอายุมีความแตกต่างจากการออกกำลังกายในคนหนุ่มสาวมาก เนื่องจากเป็นวัยที่กล้ามเนื้ออ่อนแอกว่าวัยอื่น การทรงตัวอาจทำได้ไม่ดีเท่ากับวัยอื่น และที่สำคัญผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายโดยตรง ดังนั้น เวลา ผู้สูงอายุ ออกกำลังกาย จึงควรรระวังและคำนึงถึงขีดจำกัดในเรื่องต่างๆ เพื่อลดโอกาสการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย เช่น การบาดเจ็บบริเวณกระดูก ข้อต่อ กระดูกอ่อน เอ็น และกล้ามเนื้อ เป็นต้น โดยข้อควรระวังและควรคำนึงถึง ได้แก่

  1. ควรตรวจสุขภาพก่อนการออกกำลังกาย
  2. หลีกเลี่ยงท่าออกกำลังกายที่มีการเกร็งหรือเบ่งมากเกินไป ในบางรายอาจทำให้ความดันสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะท่าที่ทำให้ต้องกลั้นหายใจ
  3. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีการปะทะ การแข่งขัน เพราะอาจเกิดอันตราย
  4. ควรเริ่มจากการยืดกล้ามเนื้อและอบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง เพราะเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ร่างกายจะเริ่มเสื่อมสภาพลงทำให้การออกแรงมากๆ เป็นเรื่องยากและก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้
  5. เลือกสวมรองเท้าออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกาย
  6. ควรมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวร่วมออกกำลังกาย อย่างน้อย 1 คน
  7. เลือกกิจกรรมที่ไม่ทำให้เกิดความเครียด
  8. เลือกกิจกรรมที่ทำติดต่อกันได้ 10-15 นาที

ผู้สูงอายุ ออกกำลังกายอย่างไรจึงพอเหมาะพอดี ไม่เกิดการบาดเจ็บ

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรออกกําลังกายอย่างต่อเนื่องนานประมาณ 30-45 นาที แต่ควรเริ่มต้นด้วยเวลาน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาการออกกำลัง โดยอาจจะเลือก กิจกรรมแบบแอโรบิค 150 นาที ต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ 2 วันต่อสัปดาห์ สามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรมออกกำลังกายไปตามสภาพร่างกายของแต่ละคน  ที่สำคัญก่อนออกกำลังกายควรอบอุ่นร่างกายทุกครั้งประมาณ 10 นาที เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อ และอย่าหยุดทันทีทันใดภายหลังออกกำลังกาย ให้เวลาในการ คูลดาวน์ ประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจและสมอง ซึ่งจะลดอาการปวด เวียนศีรษะลงได้

ผู้สูงอายุ ออกกำลังกายแบบไหนได้บ้าง 

การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ สามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ การเพิ่มการไหลเวียนโลหิต/เพิ่มการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด (แอโรบิค), การเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อ ข้อต่อส่วนต่าง ๆ เป็นการออกกำลังกายฝืนแรงต้าน, การเหยียดยืดข้อต่อส่วนต่าง ๆ ป้องกันอาการข้อยืดติด และการฝึกการทรงตัว โดยรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่

  1. การเดินหรือวิ่งช้าๆ ผู้สูงอายุควรเริ่มออกกำลังกายจากเบาไปหนักโดยเริ่มจากการเดินช้าๆ เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพสักระยะหนึ่ง จนร่างกายเคยชินกับการเดินแล้วค่อยเพิ่มความเร็วขึ้นเป็นการเดินเร็วหรือการวิ่ง สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่าหรือข้อเท้าก็ไม่ควรวิ่งเนื่องจากจะส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บมากขึ้น การเดินหรือวิ่งสามารถทำได้ที่สนามหรือสวนสุขภาพ ที่มีอากาศปลอดโปร่ง มีพื้นผิวที่เรียบเพื่อไม่ให้สะดุดล้ม นอกจากนี้ควรเลือกสวมรองเท้าผ้าใบที่กระชับเพื่อรักษาข้อต่อต่างๆ ไม่ให้ได้รับแรงกระแทกมากเกินไป
  2. กายบริหาร ทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการออกกำลังกายที่บ้าน โดยสามารถออกกำลังกายได้ทุกสัดส่วน พร้อมทั้งฝึกความอดทน การทรงตัว และความยืดหยุ่นของร่างกาย ซึ่งกายบริหารมีหลายท่าให้เลือกตามความเหมาะสม เช่น เหยียดน่อง เขย่งปลายเท้า ย่อเข่า โยกลำตัว เป็นต้น
  3. ว่ายน้ำหรือเดินในน้ำ การออกกำลังกายในน้ำสำหรับผู้สูงอายุ เหมาะกับผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมเพราะการว่ายน้ำช่วยลดแรงกระแทกโดยตรงกับพื้นแข็ง ช่วยในการฝึกกล้ามเนื้อในทุกส่วนของร่างกายและฝึกการหายใจอย่างเป็นระบบได้ สำหรับผู้สูงอายุที่ว่ายน้ำไม่เป็น สามารถออกกำลังกายได้โดยการเดินในน้ำไปมาเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ออกแรงมากขึ้น
  4. ขี่จักรยาน การขี่จักรยานเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีความแข็งแรง เนื่องจากต้องควบคุมจักรยานและออกแรงมากกว่าปกติ การขี่จักรยานช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขามากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ได้รับความเพลิดเพลินจากการขี่ไปยังสถานที่ต่างๆ และเหมาะกับการไปเป็นหมู่คณะ
  5. รำมวยจีน รำมวยจีนเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุที่ให้ทั้งความอดทน ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ซึ่งนอกจากทางด้านทางกายแล้วยังช่วยในการฝึกจิตใจ และการหายใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ  การรำมวยจีนทำให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคมมากขึ้น เนื่องจากจะได้มาร่วมออกกำลังกายกันเป็นกลุ่ม และช่วยสร้างสังคมผู้สูงอายุที่มีความชอบในการดูแลตัวเองอีกด้วย
  6. โยคะ โยคะเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ที่ปฏิบัติมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่การออกกำลังกายด้วยโยคะจะต้องมีการฝึกฝนอย่างถูกวิธีถึงจะได้ผลดีต่อร่างกาย

ผู้สูงอายุ ออกกำลังกายแบบไหนได้บ้าง

สรุป

การออกกำลังกายในผู้สูงอายุให้ได้ผลดีนั้น จะต้องส่งผลต่อระบบร่างกาย จิตใจให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงและลดโอกาสของการเจ็บป่วยได้มากขึ้น โดยจะขึ้นอยู่กับความถี่ในการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายเคยชินและไม่ได้รับการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ทั้งนี้  ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายตามความเหมาะสมของตนเอง ไม่หักโหมจนเกินไปจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุ ออกกำลังกายแล้วจะช่วยชะลอความเสื่อมของระบบต่าง ๆ ทั้งยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับกล้ามเนื้อ ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้มีความสมดุล ในบางครั้งยังช่วยให้ผู้สูงอายุได้เข้าสังคม กรณีออกกำลังกายนอกบ้าน จึงเป็นผลดีต่อสภาพจิตใจโดยตรง ดังนั้น ตัวผู้สูงอายุเอง ควรให้ความสำคัญในการออกกำลังกาย หรือผู้ดูแลควรให้ความสำคัญและสนับสนุนผู้สูงอายุ ให้ออกกำลังกายด้วย 

Reference

  1. phyathai3hospital.com/home/ประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ
  2. www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ผู้สูงอายุ-ออกกำลังกายอ
  3. multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/exercises-for-seniors