ท้องผูก เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันได้เพื่อลดความรุนแรงและเรื้อรังซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาหลายประการ โดยภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุปัจจุบันพบอยู่ที่ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ พบมากในเพศหญิงและผู้ที่มีอายุมาก ส่วนอุบัติการณ์ภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุปกติในชุมชนพบร้อยละ 10-20 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน แต่โดยในสถานบริบาลอาจพบสูงถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว การดูแลภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกหลานควรเอาใจใส่ ไม่ควรปล่อยปะละเลยสุขภาวะนี้ในผู้สูงอายุ
ท้องผูกในผู้สูงอายุ เกิดจากสาเหตุใดบ้าง
- ผู้สูงอายุมักจะมีภาวะของโรคอยู่หลายๆโรค ที่ทำให้มีโอกาสท้องผูกได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย ดื่มน้ำน้อย หรือความอยากอาหารลดน้อยลง . ผู้สูงอายุมักรับประทานอาหารน้อยลง บางคนจะรับประทาน อาหารที่มีกากใยไม่ค่อยได้ อาหารที่มีเส้นใยจะเพิ่มกากอาหาร หรือปริมาณเนื้ออุจจาระ และอุ้มน้ำทำให้อุจจาระอ่อน
- สุขนิสัยส่วนตัว เช่น ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลา หรือการกลั้นอุจจาระบ่อยๆ
- ระบบการย่อยของทางเดินอาหารเสื่อมลง เช่น การบดเคี้ยวไม่ดีเนื่องจากฟันผุ ไม่มีฟันที่จะบดเคี้ยวอาหารที่มีเส้นใย ประกอบกับการเคลื่อนไหวบีบตัวของลำไส้ลดลง โดยความรับรู้ความรู้สึกของตัวลำไส้น้อยลงที่เป็นไปตามอายุมากขึ้น
- ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือไม่มีการออกกำลังกาย หรือผู้ป่วยที่นอนติดเตียง การเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกายจะกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญอาหารและช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวบีบตัวให้มีการขับถ่ายดีขึ้น
- การรับประทานยาระบายเป็นประจำ ทำให้ลำไส้ใหญ่ถูกกระตุ้นจากยาอยู่เสมอจนลำไส้ไม่สามารถทำงานตามกลไกปกติได้
- ความเครียด ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเบื่ออาหาร และรับประทานอาหารได้น้อย มีผลกระทบต่อระบบการขับถ่าย ร่างกายจะระงับการขับถ่ายชั่วคราวได้
- ยารักษาโรคบางชนิด อาจจะทำให้เกิดอาการท้องผูก เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด เช่น มอร์ฟีน
- สาเหตุอื่นๆ เช่น ดื่มเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟมากเกินไป ได้รับยาแก้ปวด หรือยาบางอย่าง หรืออาจมีโรคที่ทำให้ท้องผูกได้ เช่น โรคทางระบบประสาท มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือการทำงานของต่อมบางอย่างที่ผิดปกติไป ฯลฯ
ท้องผูกในผู้สูงอายุ มีแนวทางดูแลป้องกันได้อย่างไร
- รับประทานอาหารที่มีกากหรือเส้นใยอาหารให้มากขึ้น อาหารที่มีเส้นใยพบมากในผัก เช่น ผักใบเขียวต่างๆ เช่น ผักคะน้า ผักโขม กวางตุ้ง ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี แตงกวา หรือมะเขือเทศสด ผลไม้ทุกชนิด เช่น กล้วย สับปะรด ส้มโอ ฝรั่ง องุ่น มะละกอ สาลี่ แอปเปิ้ล เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่วต่างๆ ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีกากใย เช่น ครีม เนย เนื้อสัตว์ติดมัน มันทอด และขนมหวานต่างๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา ฯลฯ
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว โดยเฉพาะเวลาตื่นนอนตอนเช้า ควรดื่มน้ำ 2-3 แก้ว เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ (ถ้าแพทย์ไม่ได้จำกัดน้ำดื่ม) อาจเพิ่มน้ำผัก น้ำผลไม้ในการช่วยย่อยอาหารด้วย ไม่ควรดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้อุจจาระแห้ง
- ขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน และไม่ควรรีบเร่งจนเกินไป ซึ่งตำราโบราณถือว่า เวลา 05.00-07.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ใหญ่ทำงานได้ดีที่สุด หรือจัดสถานที่ขับถ่ายให้เหมาะสม
- ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน การแกว่งแขน การทำกายบริหารอย่างง่ายๆ จะช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น
- ถ้าปฏิบัติตามข้อ 1-4 ไม่ได้ผล ใช้ยาระบายตามแพทย์สั่งหรือผ่าตัด การใช้ยาระบายให้ใช้เท่าที่จำเป็นตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ถ้าปฏิบัติตัวดีก็หายเองได้ หากไม่หายอาจจำเป็นต้องคำนึงถึงการผ่าตัด ในกรณีที่พบว่ามีการเคลื่อนไหวของตัวลำไส้ใหญ่ที่ช้ามาก อาจจะต้องตัดลำไส้ออก
- ผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน สูดลมหายใจเข้าออกยาวๆ ฟังดนตรีเบาๆ ทำใจให้สบายร่วมกับการออกกำลังกาย เพื่อผ่อนคลายร่างกาย
6 ข้อเหล่านี้คือมาตรการในการป้องกันและรักษาภาวะท้องผูกที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ หากผู้สูงอายุมีอาการท้องผูกและไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ทำให้เกิดความไม่สุขสบาย มีภาวะเครียด และรบกวนการดำเนินกิจวัตรประจำวัน อาการท้องผูกเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้น ทุกคนควรใส่ใจในการป้องกันและการแก้ไขภาวะท้องผูก อีกทั้งช่วยลดการเกิดโรคต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ
Reference