สังคมผู้สูงอายุ เป็นสังคมที่เน้นคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นการให้บริการด้านสุขภาพ การเกษียณอายุ ที่พักอาศัยที่มีความเหมาะสม และการพัฒนากิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีชีวิตอย่างมั่นคงและมีคุณภาพได้ตลอดชีวิต เนื่องจากปริมาณผู้สูงอายุในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสังคมต้องการให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลและเข้าร่วมกิจกรรมที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การพัฒนาสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญและควรได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนในสังคม


สังคมผู้สูงอายุ คืออะไร

สังคมผู้สูงอายุ คืออะไร

ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านโครงสร้างอายุของประชากร ที่มีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง Aging Society หรือ สังคมผู้สูงอายุ คืออะไรนั้น อ้างอิงจากคำจำกัดความขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN World Population Ageing) ได้นิยามคำว่าสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และผู้สูงอายุ (Older person) หมายถึง กลุ่มของประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งได้แบ่งระดับของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 

  1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
  2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
  3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติสรุปว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 (2005) โดยมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศและคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในช่วงปี 2567-2568 (2024-2025) สรุปได้ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับ Aging Society เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2548 แล้วกำลังที่จะเขยิบขึ้นไปสู่สังคม ผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ไม่เกินปี 2567 แน่นอน เราควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้และอนาคตอันใกล้อย่างเข้าใจและควรปรับตัว เรียนรู้ให้ได้เท่าทัน

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัยในประเทศ เพราะการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องของความมั่นคงทางการเงิน และสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ หากทำให้คนในประเทศเห็นความสำคัญของการดูแลตัวเองในเรื่องต่าง ๆ ตั้งแต่ปัจจุบัน เราจะเป็นประเทศที่อยู่ในสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต


เคล็ดลับอายุยืน ทำอย่างไรนั้น ต้องสร้างขึ้นทั้งกายและใจ 

การเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างมีคุณภาพเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย โดยค้นหาปัญหาที่แท้จริงของผู้สูงอายุในประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ทั้งเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ การเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม รายได้ การพัฒนาศักยภาพรวมถึงเรื่องราวของโรคภัยไข้เจ็บ รวมถึงการจัดการกับปัญหาเพื่อหาทางออกสำหรับผู้สูงอายุ เรียกได้ว่าเป็น “เคล็ดลับ” อายุยืนให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น 

เคล็ดลับอายุยืน ทำอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เคล็ดลับอายุยืน ทำอย่างไร? ในด้านร่างกายก็เป็นผลมาจากเรื่องง่ายๆ อย่างการเคลื่อน ไหวร่างกายหรือออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ เชื่อมั้ยว่า แค่เราขยับร่างกายวันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ก็อาจจะช่วยต่ออายุคุณให้ยืนยาวไปอีกหลายปี โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ถ้าไม่อยากป่วย จงลุกขึ้นมา

ผู้ที่อายุมากขึ้นและอยู่ในอาการเฉื่อยชา ควรหันมาเริ่มออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้าร่วม โปรแกรมใด ๆ ก่อนเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ไปดูคำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้นออกกำลังกายกันเลย

ขั้นแรกเริ่มด้วยการเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่ชื่นชอบมากที่สุด ซึ่งมีความหนักในระดับปานกลาง เพราะการเลือกกิจกรรมที่เราชอบ จะทำให้เราอดทนออกกำลังได้นานขึ้น จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มเวลาในการออกกำลังทีละน้อยทุก ๆ 2-3 วัน จนกระทั่งออกกำลังได้นานต่อเนื่องครั้งละ 30 นาที โดยไม่รู้สึกเหนื่อยเกินไป

เมื่อใช้เวลาออกกำลังครั้งละ 30 นาทีจนอยู่ตัวแล้ว ให้ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาขึ้นอีก หรือเพิ่มความหนักหน่วงของกิจกรรม หรือทั้งสองอย่างเลยก็ได้ ต่อมาให้เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายให้หลากหลาย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และได้รับประโยชน์หลาย ๆ ด้าน

2. ออกกำลังกายไล่ความเจ็บป่วย

ผู้ที่ดูแลร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงและกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แม้อายุจะมากขึ้น เรื่องนี้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดแห่งโบลเดอร์ สหรัฐฯ พบว่า การลดลงของแอนติบอดี อันเนื่องมาจากอายุ เป็นสัญญาณว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันน้อยลง แต่การออกกำลังกายจะช่วยคงสภาพการตอบสนองของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน (T-Cell) อย่างเหมาะสม

ดังนั้น การออกกำลังกายจึงมีความสำคัญสำหรับผู้ที่อยู่ในวัย 50 ปีขึ้นไป เพราะคนในวัยนี้มักมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันได้ง่าย และยังเป็นแนวทางการป้องกัน โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

3. ร่างกายสมบูรณ์ สมองก็ฟิต

ผู้ใหญ่ที่มีร่างกายกระฉับกระเฉงจะมี สมาธิดี อาจช่วยรักษาความจำและต่อสู้กับภาวะความจำเสื่อมได้ จากการศึกษาของนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์ก แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น พบว่า วิถีชีวิตแบบทำงานนั่งโต๊ะ มีผลเสียโดยตรงต่อความสามารถทางปัญญาและคุณภาพการนอนหลับเมื่อเราอายุมากขึ้น

ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยให้ชายและหญิงอายุ 67-86 ปี ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดี เข้าร่วมการศึกษาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ตามข้อกำหนด โดยให้พวกเขาออกกำลังกายเบาๆ นาน 30 นาที ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม 30 นาที และปิดท้ายด้วยการออกกำลังกายเบา ๆ ถึงปานกลางอีก 30 นาที

ในแต่ละครั้งจะเริ่มต้นด้วยการอบอุ่นร่างกาย เช่น เหยียดแขน ขา และออกกำลังกายเบา ๆ ถึงปานกลาง (เดินหรือออกกำลังร่างกายส่วนบนและส่วนล่าง) ในช่วงสุดท้ายให้ออกกำลังกายเบา ๆ ถึงปานกลาง ได้แก่ การเดินเร็ว กายบริหาร หรือเต้นรำ และทำให้ร่างกายเย็นลง 10 นาที โดยทั้งหมดนี้ครอบคลุมระยะเวลา 90 นาที

เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสมอง และมีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น หลับลึกขึ้น และตื่นระหว่างคืนน้อยลงถึงร้อยละ 4-6

4. อายุไม่ใช่ข้ออ้างอีกต่อไป

การศึกษาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ชายและหญิงอายุระหว่าง 50-60 ปี อยากมีร่างกาย ที่กระฉับกระเฉงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาวะหรือมีอุปนิสัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือสูบบุหรี่

โดยนักวิจัยได้เฝ้าติดตามผู้สูงอายุจำนวน 9,611 ราย พบว่า ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 50-60 ปี และยังมีความกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตใน 8 ปีข้างหน้า น้อยกว่าผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะร้อยละ 35 ซึ่งความเสี่ยงที่ลดลงนั้น พบในผู้เข้าร่วมทำการศึกษาที่ออกกำลังกายระดับปานกลางทั่ว ๆ ไป เช่น เดินเล่น ทำสวน และเต้นรำ แม้แต่คนอ้วนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตน้อยลง หากรู้สึกกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ


การจัดการอารมณ์และสร้างกำลังใจ

การจัดการอารมณ์และสร้างกำลังใจ

นอกจากการดูแลร่างกายแล้ว เคล็ดลับอายุยืน ทำอย่างไร? ในด้านจิตใจนั้นใช้หลักจิตวิทยาพร้อมเทคนิคง่าย ๆ ในการจัดการอารมณ์ของตัวเอง และสร้างกำลังใจให้สามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ได้อย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. รู้จักธรรมชาติตนเอง

ถ้ารู้ว่าเวลาที่ตัวเองหิวจัด จะหยิบอาหารที่ใกล้ตัวเข้าปากทันที ก็ต้องรู้จักวางแผนให้ดี วางระบบให้ร่างกายด้วยการเลือกและเตรียมอาหารล่วงหน้า อย่ารอให้หิวก่อน เพราะเมื่อหิว เรามักจะมีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจน้อยลง แนะนำ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ต้องกินแบบไหนถึงดีต่อร่างกาย

2. คำพูดสร้างพลัง

หาคำพูดที่จะช่วยดึงสติให้เราเอาชนะใจตัวเองได้ เช่น สำหรับคนที่กำลังคุมน้ำหนัก เมื่อเห็นอาหารมากมายตรงหน้า ลองถามตัวเองว่า “คุ้มไหม” เพื่อเตือนสติ ป้องกันไม่ให้เผลอกินอาหารที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย

3. หมั่นหาความรู้

พัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น วิธีการอ่านฉลากโภชนาการ หรือ วิธีการออกกำลังกายที่หลากหลายมากขึ้น

4. รู้จักผ่อนคลาย

ไม่ให้อยู่ในสภาวะกดดัน หรือตึงเครียดจนเกินไป ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการความเครียด ไม่จมอยู่กับปัญหา และฝึกปล่อยวาง เทคนิคง่าย ๆ คือการยิ้มให้ตัวเองตอนเช้า เพื่อสร้างอารมณ์ที่ดีรับวันใหม่อย่างแจ่มใส การผ่อนคลายโดยการให้ตัวเองได้ทำกิจกรรมที่ชอบ ยังมีวิธีการจัดการอารมณ์เบื้องต้นที่ง่ายที่สุดคือ การฝึกหายใจให้ยาวและการออกกำลังกาย แต่ถ้าไม่มีเวลา สามารถฝึกหายใจง่าย ๆ ได้ ก่อนและหลังการนอน ช่วงละ 20 ครั้ง

5. มองหาความสุขอย่างง่าย ๆ

คนส่วนใหญ่มักคิดและมองหาความสำเร็จในหน้าที่การงานว่าสามารถทำให้เกิดความสุข จนลืมมองความสุขใกล้ตัวซึ่งเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เช่น ความสุขจากการพูดคุยกับคนในบ้านระหว่างการกินมื้อเย็นร่วมกัน และเมื่อเรามีต้นทุนความสุขดี ๆ การที่เราจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่น ๆ ก็จะง่ายขึ้น

 

การจัดการอารมณ์และสร้างกำลังใจสำหรับผู้สูงอาย เป็นวิธีการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในกายและใจของผู้สูงอาย เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ได้อย่างมีคุณภาพ วิธีการเหล่านี้สามารถทำได้โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การทำกิจกรรมที่ชอบ การพูดคุยกับเพื่อนฝูง และการอ่านหนังสือหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ นอกจากนี้ ยังสามารถเรียนรู้เทคนิคการจัดการอารมณ์และการสร้างกำลังใจจากสิ่งอื่น ๆ ได้เช่นกัน


อ้างอิง