เมื่อเกิดปัญหา เข่าเสื่อม มักจะมีอาการเจ็บปวดและความไม่สะดวกในการเคลื่อนไหวของข้อเข่า อาการเข่าเสื่อมสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การเกิดการสึกหรอ อาการเสื่อมสภาพของกระดูกเข่า การบาดเจ็บ ภาวะอักเสบ หรือโรคอื่นๆ ที่ส่งผลต่อข้อเข่า

หากผู้สูงอายุมีอาการเข่าเสื่อม ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม แพทย์อาจแนะนำให้ทำการรักษา เช่น การเล่นกายภาพบำบัด เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า การผ่าตัด นอกจากนี้ อาจมีการแนะนำให้ใช้สายรัดเข่า การออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือการรับประทานยาบางชนิด เพื่อควบคุมอาการปวด เป็นต้น


เข่าเสื่อม ในผู้สูงอายุมักเกิดจากสาเหตุใดบ้าง

เข่าเสื่อม เป็นภาวะที่กระดูกอ่อนของข้อเข่าสึกหรอ ฉีกขาด จนไม่สามารถหล่อลื่นข้อเข่าให้ใช้งานเป็นปกติได้ เรียกว่า “ภาวะข้อเข่าเสื่อม” บางครั้งอาจจะมีหมอนรองกระดูกฉีกขาดร่วมด้วย เมื่อกระดูกอ่อนสึกหรอจนถึงกระดูกแข็ง โดยอาการข้อเข่าเสื่อม จะมีอาการปวดข้อเข่า  รู้สึกข้อเข่าขัดๆ เคลื่อนไหวไม่สะดวก  มีเสียงดังในข้อ เวลาเคลื่อนไหวข้อเข่า ข้อเข่าบวม มีน้ำในข้อเข่า ตลอดจนเข่าโก่งงด ผิดรูปร่าง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเวลาลงน้ำหนักเข่าขณะเดิน หรือขึ้นลงบันได

ข้อเข่าเสื่อมส่วนใหญ่จะเกิดกับคนไข้อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็น โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ  โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในคนไข้ที่น้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน มีโอกาสที่จะเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ หรือในกรณีที่คนไข้ได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า หรือเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ข้อแบบผิดๆ ซึ่งสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม มีรายละเอียดดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย
  • น้ำหนักตัวที่เกิน จะเพิ่มแรงกระทำต่อข้อเข่า
  • การใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่กระตุ้นให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ การเดินขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆ ผู้หญิงที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูงมากๆ เป็นเวลานาน ตลอดจนการใช้ส้วมแบบนั่งยองๆ ทำให้มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก
  • ผู้หญิงเมื่อหมดประจำเดือน
  • การใช้งานเข่าอย่างผิดวิธี เช่น ออกกำลังกายโดยการวิ่งทุกวัน หรือเล่นกีฬาที่ต้องกระโดด โดยไม่ฝึกกำลังกล้ามเนื้อขา
  • เคยประสบอุบัติเหตุที่เข่าโดยตรง เคยได้รับการผ่าตัดที่เข่า จะทำให้เป็นเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
  • ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ เก๊าต์ เป็นต้น 

เข่าเสื่อม รักษาอย่างไร รักษาให้หายได้หรือไม่? 

เข่าเสื่อม รักษาอย่างไร รักษาให้หายได้หรือไม่?

เข่าเสื่อม รักษาอย่างไร รักษาให้หายได้หรือไม่? ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงของภาวะข้อเข่าเสื่อมไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แต่สามารถชะลอความเสื่อมได้ โดยหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่มีแรงกดที่ข้อเข่า เช่น นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ นั่งเก้าอี้เตี้ย ไขว้ขา หรือการบิดหมุนเข่า, การขึ้น-ลงบันไดบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น, การยกหรือแบกของหนักๆ, ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เพื่อลดแรงกดและแรงกระแทกที่ข้อเข่า, หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องกระโดดหรือใช้ข้อเข่ามาก เช่น บาสเกตบอล การวิ่ง เทนนิส เป็นต้น  ตลอดจนออกกำลังกายและบริการกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายที่แนะนำคือ การว่ายน้ำ และการปั่นจักรยาน

โดยแนวทางการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อม เริ่มตั้งแต่การรักษาโดยไม่ต้องใช้ยา คือ การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นอันตรายต่อข้อเข่า ผู้สูงอายุออกกำลังกาย เพื่อบริหารกล้ามเนื้อข้อเข่า และทำกายภาพบำบัด แต่หากอาการปวดข้อเข่ายังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาซึ่งมีอยู่ 2 แนวทาง คือ 

1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก มีขาผิดรูปน้อย แพทย์จะให้รับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่ Steroid หรือการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า นอกจากนี้ การออกกำลังกาย การใช้ผ้ายืดพยุงเข่า หรือใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้ค้ำยัน และการทำกายภาพบำบัด สามารถบรรเทาอาการปวดได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • รักษาตามอาการ เช่น ดูดน้ำออกจากเข่า เพื่อลดอาการบวมและให้สามารถงอ เหยียดเข่าได้ ฉีดยาเพื่อลดการอักเสบของข้อที่มีอาการเจ็บ อาจใช้สเตียรอยด์ในกรณีอักเสบเรื้อรัง
  • ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติ และไม่ให้ข้อสึกมากขึ้น
  • รักษาด้วย Platelet Rich Plasma (PRP) โดยการฉีดเกล็ดเลือดของผู้ป่วยที่ผ่านการปั่นแยก จนได้สารเลือดที่เหมาะกับการใช้รักษา เพื่อช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมให้ร่างกายรักษาความเสื่อมของข้อเข่า
  • ฉีดน้ำไขข้อเทียม (Hyaluronic acid) ส่วนใหญ่ใช้รักษาควบคู่กับการฉีดเกล็ดเลือด เพื่อลดความฝืดของข้อเข่า

2. การรักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดจะทำในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ข้อเข่าของผู้ป่วยมีการเสื่อมค่อนข้างมาก และไม่สามารถรักษาโดยการใช้ยาหรือทำกายภาพบำบัดได้ ซึ่งการรักษาโดยวิธีการผ่าตัดก็มีอยู่หลายวิธีตามสภาพและความรุนแรงของข้อเข่าที่เสื่อม การผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาจาก อาการ อายุ การงาน อาชีพ และระยะเวลาการพักฟื้น เพื่อเลือกการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่

  • การผ่าตัดโดยการส่องกล้องข้อเข่า (Arthroscope) เป็นการผ่าตัดด้วยกล้อง โดยแพทย์จะเจาะรูเล็กๆ 2 รูใต้ลูกสะบ้า เพื่อสอดกล้องเข้าไปในข้อเข่า แพทย์สามารถมองเห็นผิวกระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก ความสมบูรณ์ของเนื้อเยื่อในข้อเข่าผ่านจอมอนิเตอร์ และสามารถประเมินขอบเขตที่สึกหรอในเข่าได้ดีขึ้นมากกว่าข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายทางรังสี ระหว่างการผ่าตัดแพทย์สามารถสอดเครื่องมือพิเศษ เพื่อทำการผ่าตัดตามที่แพทย์ต้องการได้ เช่น การชำระล้างข้อเข่า การดูดเอาเศษเนื้อเยื่อที่ลอยอยู่ในเข่าออก การตกแต่งขอบที่แผลของกระดูกอ่อน การตัดเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นพังพืดที่เสียดสีกับกระดูกอ่อนในเข่า การเย็บซ่อมแซมหมอนรองกระดูก หรือเอ็นไขว้ผ่านกล้อง การผ่าตัดกระตุ้นการซ่อมแซมผิวกระดูกอ่อน เพื่อให้มีการสร้างเนื้อเยื่อเข้าแทนที่กระดูกอ่อนที่สึกหรอไปแล้ว เป็นต้น
  • การผ่าตัดผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน (Unicompartment Knee Arthroplasty) คือ การผ่าตัดที่เอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่เสื่อมมากแล้วออก โดยเก็บรักษาผิวข้อในส่วนที่กระดูกอ่อนยังอยู่ในสภาพดีไว้ แล้วทดแทนด้วยผิวข้อเข่าเทียมและกระดูกอ่อนเทียมเพียงบางส่วน ในส่วนของเส้นเอ็นต่างๆ ภายในข้อเข่าจะยังอยู่ในสภาพเดิม ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติมากที่สุด สามารถลงน้ำหนักเดินได้ใน 1-2 วันหลังผ่าตัด ข้อเข่ามีอายุการใช้งานได้นานมากกว่า 10 ปี ถึง 97-98% และหากมีความจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขในอนาคต จะสามารถทำได้ง่ายกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีอื่น
  • การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าทั้งหมด (Total Knee Arthroplasty) จะพิจารณาในรายที่ข้อเข่ามีการเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง และได้พยายามรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือเกิดความพิการผิดรูปของข้อเข่าในลักษณะเข่าโก่งงอ การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมทั้งหมดเป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อที่เสื่อมบริเวณกระดูกข้อเข่าส่วนต้นขาและบริเวณหน้าแข้ง แล้วเสริมฝังข้อเข่าใหม่ทดแทน ซึ่งทำมาจากวัสดุโลหะชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบให้เหมือนธรรมชาติ และอยู่ในร่างกายได้ตลอดชีวิตโดยไม่เป็นอันตราย และมีส่วนที่กระดูกอ่อนเทียม ซึ่งทำมาจากวัสดุคล้ายพลาสติกที่ออกแบบมาเพื่อให้มีความทนทานต่อการใช้งาน

เข่าเสื่อม รักษาอย่างไร รักษาให้หายได้หรือไม่? 

เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาเสร็จสิ้นเรียบร้อย ควรมีการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ โดยการควบคุมน้ำหนัก ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป, หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เข่าเสื่อม เช่น การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ หรือนั่งทับเข่าเป็นเวลานาน, งดการเล่นกีฬาที่ทำให้เอ็นฉีกง่าย  เช่น แบดมินตัน ฟุตบอล บาสเกตบอล, เสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่าให้กระชับแข็งแรง, ฉีดน้ำไขข้อเทียม เมื่อมีอาการหรือตามแพทย์แนะนำ

รวมถึงรับประทานคอลลาเจน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ผิวข้อและหมอนรองกระดูก ทั้งนี้ คอลลาเจนไม่ช่วยลดอาการเจ็บของข้อเข่า แต่เป็นการช่วยเสริมสร้างผิวข้อและหมอนรองกระดูกให้แข็งแรงขึ้นได้ เปรียบเหมือนการรับประทานวิตามินที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน จึงจะเห็นผล ถือเป็นการลดความเจ็บลงทางอ้อม


อ้างอิง