เมื่อเราเจอผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึง เรามักคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องได้ยินลดลงอยู่แล้ว แต่การที่เราปล่อยให้ปัญหาการได้ยินไม่ชัดในผู้สูงอายุเป็นอยู่นาน นำมาสู่ปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมามากมาย ทำให้ผู้สูงอายุเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในการสื่อสารกับผู้อื่นน้อยลงโดยไม่รู้ตัว เกิดปัญหาระหว่างผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวกับผู้สูงอายุได้ หากมีอาการรุนแรง นอกจากผลกระทบทางด้านร่างกายแล้ว การไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้อย่างเป็นปกติยังมีผลกระทบทางด้านจิตใจได้อีกด้วย จึงควรรู้สาเหตุเพื่อหาแนวทางการรักษาต่อไป


 หูตึง เกิดจากสาเหตุใดบ้างในผู้สูงอายุ

หูตึง เกิดจากสาเหตุใดบ้าง

ปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึงในผู้สูงอายุ มักเกิดจากส่วนประสาทรับเสียง ได้แก่ ส่วนของหูชั้นในไปจนถึงสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่เรารับรู้และเข้าใจเสียงต่าง ๆ ความผิดปกติบริเวณนี้ของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ทำให้เกิดภาวะหูตึง หรือหูหนวกถาวรได้เกิดจากการเสื่อมและตายของเซลล์ขนรับเสียง (Hair cells) ในหูชั้นใน รวมถึงประสาทบริเวณหูชั้นในค่อย ๆ สึกกร่อนหรือฉีกขาดไป ส่งผลให้เมื่ออายุมากขึ้นจะไม่ได้ยินช่วงเสียงแหลมความถี่สูง จากนั้นความเสื่อมจะค่อย ๆ ลามไปถึงช่วงความถี่กลางซึ่งเป็นระดับของเสียงพูด จึงทำให้ผู้สูงอายุเริ่มฟังไม่ชัดเจน โดยเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงของความบกพร่องของการได้ยิน ได้แก่ โรคของเส้นเลือดในสมอง เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ, เลือดออกในสมอง จากไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, เนื้องอกในสมอง เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทหูการรับรวมไปถึงประทานยาบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้ประสาทหูเสื่อมเร็วขึ้นได้ อีกทั้งการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือด โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น


การวินิจฉัยหูอื้อ หูตึงในผู้สูงอายุ

โดยธรรมชาติแล้วการได้ยินจะค่อย ๆ เสื่อมลงตามวัย การได้ยินบกพร่องของผู้สูงอายุ จะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป และเสื่อมเท่ากันทั้ง 2 ข้างในช่วงความถี่สูง ซึ่งจะวินิจฉัยในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี และไม่มีสาเหตุอื่นที่ทำให้การได้ยินบกพร่อง ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ เนื่องจากมีเสียงรบกวนในหู และมักมีปัญหาฟังไม่รู้เรื่อง หรือได้ยินเสียงแต่จับใจความไม่ได้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลจากความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางตามวัย นอกเหนือไปจากหูชั้นในเสื่อม ทำให้มีปัญหาในการได้ยินมากกว่าผู้ที่มีการได้ยินบกพร่องในระดับเดียวกันที่มีอายุน้อยกว่า

โดยปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึงในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่เกิดกับผู้สูงอายุ พบได้ถึงร้อยละ 25-40 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามวัย กล่าวคือ อุบัติการณ์ของผู้สูงอายุที่มีประสาทรับเสียง เสื่อมตามวัย พบได้ตั้งแต่ร้อยละ 40-60 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี และเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี เรื่องที่ควรรู้ ผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพอะไรบ้าง ?

การวินิจฉัยและรักษาปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึงในผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ อาศัยการซักประวัติถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่เป็นไปได้, การตรวจหูชั้นนอก ช่องหู แก้วหู หูชั้นกลาง และบริเวณรอบหู, การตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติของเคมีในเลือด, การตรวจปัสสาวะ, การตรวจการได้ยิน เพื่อยืนยัน และประเมินระดับความรุนแรงของการเสียการได้ยิน, การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง และการถ่ายภาพรังสี เช่น เอ็กซ์เรย์ คอมพิวเตอร์สมอง หรือกระดูกหลังหู หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการฉีดสารรังสีเข้าหลอดเลือด ถ้ามีข้อบ่งชี้

ดังนั้น ผู้สูงอายุที่มีอาการดังต่อไปนี้แสดงว่าหูเริ่มตึงแล้ว ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจระดับการได้ยิน

  • ผู้สูงอายุมักได้ยินคำเตือนว่าพูดเสียงดังเกินไป
  • ผู้ดูแล หรือญาติ พูดแล้ว ผู้สูงอายุทำหน้าไม่เข้าใจ และแสดงอาการว่าไม่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง
  • ผู้สูงอายุมีอาการได้ยินไม่ชัด ได้ยินไม่ครบทั้งประโยค
  • ผู้สูงอายุ เปิดเสียงวิทยุหรือโทรทัศน์ดังจนข้างบ้านบ่น หรือไม่ค่อยได้ยินเสียงโทรศัพท์ ในขณะที่ผู้อื่นได้ยิน
  • ผู้สูงอายุเข้าใจสิ่งที่พูดได้ยาก ถ้าในขณะพูดมีเสียงเพลงหรือวิทยุดัง

ทั้งนี้ การมีภาวะหูตึง คือ ภาวะที่ความสามารถในการได้ยินลดลง ซึ่งมีระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน ดังนี้

ระดับการได้ยิน (เดซิเบล) ระดับความรุนแรง ความสามารถในการเข้าใจคำพูด
0 – 25 ปกติ ได้ยินเสียงพูดคุย
26 – 40 หูตึงน้อย ไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ
41 – 55 หูตึงปานกลาง ไม่ได้ยินเสียงพูดในระดับปกติ
56 – 70 หูตึงมาก ไม่ได้ยินแม้คนที่พยายามพูดเสียงดัง
71 – 90 หูตึงขั้นรุนแรง เมื่อตะโกนก็ยังไม่ได้ยิน
91 ขึ้นไป หูหนวก ตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่ได้ยิน

การรักษาปัญหาหูอื้อ หูตึงให้หายขาด

การรักษาปัญหาหูอื้อ หูตึงให้หายขาด

ปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึง รักษาหายขาดได้ไหม? ต้องบอกก่อนว่าปัจจุบันไม่มียารักษาภาวะเสื่อมตามวัยของระบบประสาทหู ปัญหาการได้ยินที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน เส้นประสาทหู และระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย มักจะรักษาไม่หายขาด

ซึ่งการรักษาปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุนั้น จะรักษาตามสาเหตุ ถ้าเกิดจากประสาทรับเสียงเสื่อม ควรหาสาเหตุ หรือปัจจัยที่จะทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อมเร็วกว่าผิดปกติ เพื่อหาทางชะลอความเสื่อมและป้องกันไม่ให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมากขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงเสียงดัง หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม และพยายามควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคไต ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

ในกรณีที่อาการหูตึงในผู้สูงวัยมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจพิจารณาให้ใส่เครื่องช่วยฟัง ซึ่งช่วยทำหน้าที่เสมือนเครื่องขยายเสียงให้ดังขึ้น โดยใส่ไว้ในช่องหู สามารถถอดเก็บได้ ในกรณีหูตึงขั้นรุนแรงหรือหูหนวก แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ในกระดูกก้นหอยที่อยู่ในบริเวณหูชั้นใน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินไม่ว่าจะเกิดจากประสาทหูเสื่อมตามวัย หรือ มีสาเหตุจากโรคที่อันตราย เช่น เนื้องอกของสมอง หรือเส้นประสาท ซึ่งปัญหาการได้ยินดังกล่าว อาจหายได้ หรืออยู่กับผู้ป่วยตลอดชีวิตก็ได้

เรามักพบว่ามีผู้สูงอายุหลาย ๆ คนปลีกตัวจากสังคม หลีกเลี่ยงการออกไปพบปะเพื่อนฝูง เพราะการพบปะในที่ที่มีคนมากจะทำให้ปัญหาการสื่อสารทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาการได้ยิน หูอื้อ หูตึงในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่พบบ่อย และพิสูจน์แล้วจากงานวิจัยในหลายประเทศทั่วโลกว่า ทำให้ท่านผู้สูงอายุมีปัญหาซึมเศร้าและปัญหาทางสุขภาพจิต นี่เป็น วิธีดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพดีทั้งกายใจ 

ซ้ำร้ายการที่สมองขาดการกระตุ้นจากเสียงที่เข้ามานั้น นำไปสู่ความเสี่ยงที่มากขึ้นของการทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุอีกด้วย ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ จากการได้รับการตรวจระดับการได้ยิน และช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจากทางแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูและการได้ยิน เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้นไป ดังนั้น อย่านิ่งนอนใจ ควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็กระดับการได้ยิน หาสาเหตุและการป้องกัน ดูแลไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น


อ้างอิง